พาณิชย์ รับบาทแข็งทำข้าวไทยแพงเสียเปรียบคู่แข่ง ฉุดส่งออกปีนี้พลาดเป้า เดินหน้าหาตลาดเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 5, 2020 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พาณิชย์ รับบาทแข็งทำข้าวไทยแพงเสียเปรียบคู่แข่ง ฉุดส่งออกปีนี้พลาดเป้า เดินหน้าหาตลาดเพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ข้าวไทยในตลาดโลกไม่ค่อยดี โดยตั้งแต่ต้นปี 63 เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงขึ้นมาก จากผลของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่แข่ง จึงทำให้ผู้นำเข้าหลายประเทศหันไปสั่งซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน อย่างไรก็ดี ขณะนี้เงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่า จึงทำให้ราคาข้าวไทยไม่สูงมาก และผู้ซื้อหลายรายเริ่มกลับมาสั่งซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เดินหน้าหาคู่ค้าในตลาดใหม่ให้มากขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่าข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก จึงจำเป็นต้องมาวางแนวทางการทำตลาดข้าวไทยในตลาดโลกร่วมกันแบบให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค แต่ปีนี้ยอมรับว่า ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าและการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไทยไม่สามารถทำตลาดในต่างประเทศได้มากนัก ส่งผลให้คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

"สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่า ปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวไทยประมาณ 6.5 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 7-7.5 ล้านตัน สาเหตุหลักจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ได้กำชับให้ทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเร่งหาตลาด และประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้น" นายจุรินทร์กล่าว ในงานประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ปีการเพาะปลูก 62/63

ดังนั้น สิ่งที่จะต้องปรับปรุงจากนี้ คือ การตลาดทั้งระบบ ตั้งแต่การเพาะปลูก การวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ การลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้วงจรการเพาะปลูกข้าวไทยมีราคาต่ำกว่าคู่แข่ง ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการแข่งขันในตลาโลก

นายจุรินทร์ กล่าวต่อถึงการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทยปีการเพาะปลูก 62 /63 ครั้งที่ 38 การประกวดข้าวตราคุณภาพดีเด่นประจำปี 63 และการประกาศเกียรติคุณข้าวหอมมะลิบรรจุถุงที่ได้รับเครื่องหมายรับรองรูปพนมมือว่า การประกวดดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัวและเห็นความสำคัญในการผลิตข้าวหอมมะลิให้ได้คุณภาพดีตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้เกษตรกรในการรักษาพัฒนาคุณภาพข้าวไว้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยให้ตรงตามความต้องการของตลาด และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ