EU เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน คาดมีผลปี 66

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2020 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

EU เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน คาดมีผลปี 66

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ว่า คณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายภาษีและสหภาพยุโรปศุลกากร (DG Taxud) อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เกี่ยวกับแนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ระหว่างวันที่ 22 ก.ค. - 28 ต.ค.63 โดยมี 3 แนวทางในการเปิดรับฟังความคิดเห็น คือ 1) การประเมินความเป็นไปได้ทางกฎหมายและทางเทคนิคของมาตรการ CBAM หรือการขยายขอบเขต (European Union Emission Trading Scheme : EU ETS) มาใช้กับสินค้านำเข้า 2) การประเมินปริมาณและราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้า และ 3) กลุ่มสินค้า/อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงของการรั่วไหลของคาร์บอนสูงสุด

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายภาษีและสหภาพยุโรปศุลกากร มีแผนที่จะออกกฎหมาย CBAM ในปี 2564 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566

มาตรการ CBAM เป็นมาตรการที่กำหนดอัตราภาษีนำเข้าตามระดับคาร์บอน เพื่อลดความได้เปรียบทางด้านต้นทุนของสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาที่อาจมีระดับคาร์บอนแฝงสูงกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศที่มีมาตรการจัดการกับก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากประเทศที่สามที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (EU) ไม่มีการกำหนดโควตาหรือมีมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซฯ ที่เข้มงวดน้อยกว่า

ทั้งนี้ การใช้ CBAM จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราที่เทียบเท่ากับสินค้าชนิดเดียวกัน (Like products) ที่ผลิตในประเทศ โดยจะกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าในประเทศหรือผู้ส่งออกสินค้า ต้องซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซในปริมาณที่เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตสินค้านั้นๆ

ปัจจุบัน EU ได้ใช้ระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) ตั้งแต่ปี 2548 เป็นรายแรกของโลก เพื่อเป็นกลไกควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดการปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน (carbon leakage) จากภาคอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิก EU โดยมีการกำหนดเพดานการลดการปล่อยก๊าซฯ ของประเทศสมาชิกหรือบริษัทแต่ละราย สำหรับรายที่ปล่อยก๊าซฯ ต่ำกว่าเกณฑ์สามารถนำส่วนต่างไปขายให้แก่รายอื่นที่ต้องการปล่อยก๊าซมากกว่าที่กำหนด รวมถึงกำหนดให้แต่ละอุตสาหกรรม/โครงการที่เข้าหลักเกณฑ์จะต้องจัดทำรายงานประจำปีที่ให้ข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ และส่งให้หน่วยงานกำกับดูแล เพื่อจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซฯ ต่อไป

ทั้งนี้ สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานในการผลิตอย่างเข้มข้น และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตสูง เช่น เคมีภัณฑ์ ซีเมนต์ เหล็ก สินค้าเหล็ก และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายภาษีและสหภาพยุโรปศุลกากร ได้มีการออกระเบียบกำหนดรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงการรั่วไหลของคาร์บอน (ในช่วงปี 2564-2573) เช่น เหมืองแร่ถ่านหิน น้ำมัน แป้ง (starch) น้ำตาล เครื่องหนัง ปุ๋ย พลาสติก อะลูมิเนียม เหล็ก กระดาษ กระจก ซีเมนต์ นมผง มันฝรั่งแช่แข็ง เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้อง อาจเข้าร่วมให้ความเห็นต่อกระบวนการดังกล่าวเพื่อให้ EU ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกำหนดมาตรการ CBAM เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางการค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ