ภาวะตลาดเงินบาท: บาทปิด 31.21/23 อ่อนค่าจากแรงซื้อดอลลาร์ คาดกรอบพรุ่งนี้ 31.00-31.40

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2020 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.21/23 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่า จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 30.97/31.00 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทช่วงเย็นปรับตัวอ่อนค่าไปค่อนข้างมากจากเปิดตลาดในช่วงเช้า จากผลที่มีแรงซื้อดอลลาร์ค่อนข้างมาก ขณะที่ ช่วงบ่ายหลังจากตลาดฝั่งยุโรปเปิดทำการ เงินยูโรและเงินปอนด์ก็ปรับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้เงินบาทในช่วง บ่ายเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

"บาทอ่อนเป็นผลจาก Flow ในประเทศ มีแรงซื้อดอลลาร์ค่อนข้างเยอะ ประกอบกับพอช่วงบ่ายตลาดฝั่งยุโรปเปิด เงินปอนด์และเงินยูโรก็อ่อนค่าลงไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ" นักบริหารเงิน ระบุ

อย่างไรก็ดี คืนนี้ต้องติดตามความเห็นต่างๆ จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อดูแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจของ สหรัฐในระยะข้างหน้าต่อไป

นักบริหารเงิน คาดว่าพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.40 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 104.15/17 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 104.41/42 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1788/1790 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1854/1858 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,275.16 จุด ลดลง 13.23 จุด (-1.03%) มูลค่าการซื้อขาย 40,184 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,835.07 ลบ.(SET+MAI)
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัวโครงการปฏิรูปการรายงานข้อมูลของสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการ
ออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของ ธปท.ที่ตรงจุดและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการเงินในยุคโลกการเงินดิจิ
ทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจไทย และช่วยลดภาระของสถาบันการเงินในการรายงานข้อมูล โดย ธปท.นับเป็น
ธนาคารกลางแรกในเอเชีย ที่ดำเนินการโครงการในลักษณะเช่นนี้
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.85-31.20 บาท
ต่อดอลลาร์ โดยนักลงทุนจะติดตามความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลังเฟดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตาม
ความคาดหมายของตลาด ส่วนปัจจัยในประเทศคาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พุธนี้จะคงดอกเบี้ยไว้เท่า
เดิมที่ 0.50%
  • กระทรวงการคลัง จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (22 ก.ย.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ
มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ประกอบด้วย 1.โครงการคนละครึ่ง โดยแจกเงิน 3,000 บาทให้ประชาชนทั่วไป
จำนวน 10 ล้านคน และ 2.โครงการเพิ่มวงเงินซื้อของกินของใช้ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน อีกคนละ 500
บาท/เดือน เป็นคนละ 700-800 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.63 หรือเท่ากับเพิ่มให้รวมคนละ
1,500 บาท
  • ธนาคารออมสิน เตรียมออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) วงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 เพื่อ
เป็นการสร้างตลาดตราสารหนี้เพื่อสังคมให้ใหญ่ขึ้น และให้นักลงทุนสถาบันรายเล็กสามารถเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น โดยไม่ต้องให้
กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกัน เนื่องจากธนาคารออมสินมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะมีการพิจารณาให้
เหมาะสมตามช่วงเวลาในขณะนั้น
  • ดัชนี Stoxx Europe 600 แตะที่ระดับ 364.35 จุด ลดลง 4.43 จุด หรือ -1.20% โดยตลาดหุ้นยุโรปร่วงลง
ในช่วงเปิดตลาดวันนี้ นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังมีรายงานว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลก ได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิด
กฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายยังถูกกดดันจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่
ในยุโรป
  • ดอยซ์แบงก์ ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โลกในปี 2563 โดยคาดว่า GDP จะหดตัวแค่ 3.9% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
เมื่อเดือนพ.ค.ว่าจะหดตัว 5.9% พร้อมยังคาดการณ์ว่า GDP โลกในปี 2564 จะขยายตัว 5.6% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ว่าจะขยายตัวเพียง 5.3% โดย GDP โลกมีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดได้ภายในช่วงกลางปี
หน้า
  • ช่วงบ่าย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 12.10 ดอลลาร์
หรือ 0.62% แตะที่ 1,950.00 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด ทั้งนี้ การแข็งค่า
ของดอลลาร์ ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์มีราคาแพงขึ้น และมีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น
  • สัปดาห์นี้ สหรัฐจะรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือนส.ค., ยอดขาย

บ้านมือสองเดือนส.ค., ดัชนีราคาบ้านเดือนก.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการขั้นต้นเดือนก.

ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค. เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ