"เอกนิติ" ชี้ 7 ปัจจัยความท้าทายเศรษฐกิจไทยหลังหมดวิกฤตโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 24, 2020 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา "BATTLE STRATEGY แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE II : DON'T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์" ในหัวข้อ"ความท้าทายเศรษฐกิจไทย...เศรษฐกิจโลก หลังยุควิกฤติโควิด" โดยมองว่า หลังจากผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤติโควิดไปแล้ว ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต่างจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น เพราะวิกฤติโควิดในรอบนี้ เป็นวิกฤติการทางด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งแตกต่างกับการเผชิญวิกฤติในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น

สำหรับความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น มีด้วยกัน 7 เรื่อง คือ 1.เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง 2.รายได้ผู้ประกอบการลดลง 3.อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 4.หนี้ครัวเรือน หนี้เอกชน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 5.นโยบายการเงินดอกเบี้ยต่ำ Unconverntional Monetary Policy เพิ่มขึ้น 6.ราคาสินทรัพย์มีความผันผวน (ค่าเงิน ตลาดเงิน ตลาดทุน) และ 7.New Normal Way of Life (Digital Transformation)

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในระยะอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องเผชิญกับการขยายตัวเฉลี่ยของ GDP ที่ชะลอตัวลง ซึ่งจากเดิมในช่วงก่อนปี 40 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึงปีละประมาณ 7% และเริ่มลดลงมาตั้งแต่หลังปี 40 อยู่ในระดับ 3% ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะหดตัว -8%, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทำให้ภาครัฐมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับอัตราเด็กเกิดใหม่ของประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ จึงส่งผลต่อการขาดแคลนกำลังแรงงานในอนาคต และจะกระทบต่อศักยภาพการผลิตในระยะยาวของประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งในอนาคตหากเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ปีละ 2% ก็อาจจะถือว่าเก่งแล้ว

นายเอกนิติ กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ประกอบด้วยเครื่องยนต์หลัก 4 ตัว ได้แก่ 1.การส่งออกสินค้า-บริการ 2.การบริโภคภาคเอกชน 3.การใช้จ่ายภาครัฐ และ 4.การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการ จะถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่สำคัญสุดต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพารายได้จากส่งออกสินค้าและบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ในสัดส่วนสูงถึง 70% ต่อจีดีพี ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดขึ้นในทั่วโลก ก็แทบจะทำให้เครื่องยนต์ตัวนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด และทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนมาก

"ตอนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 จีดีพีของไทย -8% หลังจากนั้นปี 52 เจอวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจไทยก็ติดลบอีก และเกือบจะติดลบอีกในปี 54 จากวิกฤติของยุโรป พอปี 57 มีปัญหาการเมืองในประเทศ เศรษฐกิจเราก็เกือบติดลบ ส่วนปี 63 นี้ เจอวิกฤติโควิด ซึ่งคาดว่าจะติดลบแรงกว่าปี 40 ความผันผวนที่เราต้องเจอจะมากขึ้น เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา" นายเอกนิติกล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยแม้จะยังเหลือเครื่องยนต์ 2 ตัว ที่ยังทำงานได้อยู่ คือ การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน แต่เครื่องยนต์ทั้ง 2 ตัวนี้ ไม่สามารถช่วยดึงเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นได้ เนื่องจากมีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่สูงมาก ประกอบกับในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนจากผลกระทบของปัญหาโควิดเช่นนี้ ทำให้ภาคเอกชนยิ่งไม่กล้าลงทุนเพิ่ม ดังนั้นจึงเหลือเพียงแค่การใช้จ่ายภาครัฐที่ยังเดินเครื่องอยู่ แต่ก็ไม่แรงเพียงพอที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ได้มากนัก

ส่วนความท้าทายของเศรษฐกิจโลกในอีก 10 ข้างหน้านั้น นายเอกนิติ มองว่า เศรษฐกิจโลกจะมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น แต่ก็จะซับซ้อนมากขึ้น ภูมิภาคเอเชียจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันจะมีการกีดกันทางการค้าเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของการค้าและการลงทุนในอนาคต ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง Supply Chain ด้วยการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตมาใกล้กับแหล่งผลิตมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ