ศบศ.รับทราบความคืบหน้า 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากผลกระทบโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2020 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจการผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) รับทราบความคืบหน้ามาตรการเศรษฐกิจที่สำคัญ 5 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกอบด้วย 3 ระยะที่สำคัญ ดังนี้ 1) การเยียวยาช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย SMEs Corporate ได้แก่ ลูกหนี้รายย่อย รวมมูลค่า 3.84 ล้านล้านบาท จำนวน 10.97 ล้านบัญชี ลูกหนี้ SMEs รวมมูลค่า 2.14 ล้านล้านบาท จำนวน 1.12 ล้านบัญชี และลูกหนี้ corporates รวมมูลค่า 0.92 ล้านล้านบาท จำนวน 37,114 บัญชี 2) สถาบันการเงินติดตามดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ติดต่อลูกหนี้ไปเยี่ยมกิจการ เพื่อประเมินผลกระทบรวมทั้งจัดทำช่องทางให้ลูกหนี้แจ้งสถานะและความประสงค์ในการรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น และ 3) การเตรียมมาตรการรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะต่อไป โดยลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ DR BIZ ซึ่งเป็นระบบ one stop service ให้ลูกหนี้ได้ติดต่อเจ้าหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้เดิม และมีโอกาสได้สินเชื่อใหม่

2. มาตรการด้านแรงงาน ผลการดำเนินงานมาตรการด้านแรงงานล้านงานเพื่อล้านคนประกอบด้วย (1) งาน Job Expo Thailand 2020 ล้านงานเพื่อล้านคน ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย.63 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค มีตำแหน่งงานที่รองรับรวมทั้งสิ้น 1,495,225 อัตรา โดยมีสถานประกอบการที่มาออกบูธ 501 แห่ง มีตำแหน่งงาน 100,012 งาน ผู้สมัครงาน 143,066 ครั้ง และมีการจับคู่ระหว่างตำแหน่งงานและผู้สมัครงาน 57,226 อัตรา (2) เวบไซต์ไทยมีงาน ข้อมูล ณ วันที่ 5 ต.ค.63 มีตำแหน่งงาน 733,633 อัตรา ผู้สมัครงาน 112,806 ครั้ง และมีการจับคู่ระหว่างตำแหน่งงานและผู้สมัครงานทั้งสิ้น 45,112 อัตรา และสำหรับมาตรการอุดหนุนการจ้างงานเด็กจบใหม่ มีตำแหน่งงานทั้งสิ้น 74,351 อัตรา มีผู้สมัครงานทั้งสิ้น 39,033 คน และมีการจับคู่ระหว่างตำแหน่งงานและผู้สมัครได้ทั้งสิ้น 31,876 อัตรา ทั้งนี้รวมทุกมาตรการสามารถจับคู่ตำแหน่งงานได้ทั้งสิ้น 134,214 อัตรา

3. มาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart visa) โดยมีความคืบหน้าการปรับปรุงมาตรการ Smart Visa ที่สำคัญ ดังนี้ 1) ปรับปรุงขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กว้างขึ้น ไม่จำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการพัฒนาและบริหารกิจการที่เกี่ยวข้องกับ Startup Ecosystem และนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาอื่นนอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2) เพิ่มเติมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ไม่มีสัญญาจ้างงานในประเทศ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงบางกลุ่มในธุรกิจวิสาหกิจและขนาดย่อม (SMEs) และผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงาน และวุฒิการศึกษาของผู้บริหารระดับสูง และ 4) การอนุญาตให้ผู้ถือ Smart Visa ทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับการรับรองได้ในบางกรณี โดยให้สามารถทำงานในกิจการอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการหรือความเชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองได้อาทิ กิจการในเครือกิจการที่มีความเชื่อมโยงหรือสนับสนุน เป็นต้น

4. โครงการคนละครึ่ง เสนอโดยกระทรวงการคลัง ความคืบหน้าล่าสุดของการลงทะเบียนร้านค้าโครงการคนละครึ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-6 ต.ค.63 1) กิจการลงทะเบียนรวมทั้งหมด 210,010 ร้าน แบ่งเป็น กิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จ 152,795 ร้าน กิจการที่รอดำเนินการตรวจสอบ 56,465 ร้าน และกิจการไม่เข้าข่ายเงื่อนไขของโครงการ 750 ร้าน 2) กิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จ แบ่งออกเป็นกิจการที่มีหน้าร้าน 127,852 ร้าน และหาบเร่และแผงลอย 24,943 ร้าน 3) ประเภทของกิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม 90,052 ร้าน ส่วนร้านธงฟ้า 41,331 ร้าน ร้าน OTOP 4,991 ร้าน และร้านค้าทั่วไป 16,421 ร้าน และ (4) กิจการที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง 73,092 ร้าน คิดเป็น 34.8% รองลงมาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 73,092 ร้าน คิดเป็น 25% และภาคใต้ 37,229 ร้าน คิดเป็น 17.7% โดยในรายจังหวัดนั้นพบว่า กิจการที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ รองลงมาอยู่ในเชียงใหม่ และสงขลา

5. มาตรการด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1) โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 4 ต.ค.63 มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 5.27 ล้านคน และมีผู้ใช้สิทธิแล้ว 1,406,808 คืน และมีสัดส่วนจากรัฐสนับสนุน 1,537.2 ล้านบาท สำหรับมูลค่ายอดใช้จ่าย E-Voucher รวมทั้งหมด 916.4 ล้านบาท มีสัดส่วนจากรัฐสนับสนุน 345.7 ล้านบาท ขณะที่ตั๋วเครื่องบินมีผู้ใช้สิทธิแล้ว 51,753 สิทธิ ซึ่งมีสัดส่วนรัฐสนับสนุน 43.9 ล้านบาท สำหรับมูลค่ายอดใช้จ่ายภายใต้โครงการนี้ รวมทั้งหมด 5,096.5 ล้านบาท แบ่งเป็น ยอดมูลค่าโรงแรมที่พักจำนวน 4,049.7 ล้านบาท E-Voucher 916.4 ล้านบาท และสายการบิน 130 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยว 3,169.7 ล้านบาท และจากรัฐบาล 1,926.8 ล้านบาท

2) โครงการกำลังใจ มีบริษัทนำเที่ยวเข้าร่วม จำนวน 3,959 บริษัท นักท่องเที่ยวเข้าร่วม 379,771 คน และมีสัดส่วนรัฐสนับสนุน 759,542,000 บาท

3) แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แจ้งความประสงค์เดินทางเข้าประเทศไทยภายใต้ STV จากภูมิภาคต่าง ๆ รวม คน แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก 924 คน ภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ 229 คน ภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง 462 คน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวซึ่งสอบถามจำนวนเบื้องต้นจากภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง 500 คน และจากภูมิภาคอเมริกา 69 คน โดยในปัจจุบันมี 5 จังหวัดที่สามารถรองรับการกักตัวได้ ซึ่งแบ่งเป็น โรงแรมในกรุงเทพมหานครที่ผ่านการตรวจประเมิน Alternative State Quarantine (ASQ) 84 แห่ง และโรงแรมในชลบุรี บุรีรัมย์ ภูเก็ต และปราจีนบุรีที่ผ่านการตรวจประเมิน Alternative Local Quarantine (ALQ) 11 แห่ง

4) โครงการ Thailand Elite Member Quarantine (TEMQ) ซึ่งมีจำนวนสมาชิกที่อยู่นอกประเทศไทยประมาณ 7,000 คน นั้น พบว่ามีสมาชิกที่ตอบรับโครงการ TEMQ และนำส่งกระทรวงต่างประเทศผ่าน ททท. แล้ว จำนวน 448 คน สมาชิกที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงต่างประเทศแล้ว 304 คน สมาชิกที่ได้รับ COE และเที่ยวบินจำนวน 49 คน สมาชิกที่เดินทางถึงประเทศไทยแล้วและอยู่ในระหว่างการกักตัว 35 คน และสมาชิกที่เสร็จสิ้นการกักตัวในเดือนก.ย.ทั้งสิ้น 14 คน

5) โครงการกระตุ้นการเดินทาง Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ โดยเชิญชวนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ องค์กร และหน่วยงาน ร่วมซื้อแพคเกจในโครงการพร้อมสิทธิพิเศษอื่น ๆ มากมาย ทั้งนี้หน่วยงานเข้าร่วมโครงการจะได้รับของรางวัล Certificate และโล่ประกาศเกียรติคุณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบศ. รับทราบข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจรายสาขาจากภาคเอกชน ประกอบด้วยข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจในภาพรวมจำนวน 6 ด้าน ซึ่งหลายมาตรการรัฐบาลได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว ประกอบด้วย 1. เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจอาทิ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) และจัดตั้งกองทุนพิเศษ การผ่อนปรนหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ การขยายเวลาชำระหนี้สำหรับธุรกิจ การขยายการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาด

2. ลดต้นทุนและภาระค่าใช้จ่าย อาทิ การลดภาษี/ยกเว้นการจัดเก็บภาษี การให้นำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษี การลด/ยกเว้นค่าปรับและค่าธรรมเนียมของภาครัฐ การเร่งรัดการจ่ายเงินภาครัฐ การขยายสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การพัฒนาแรงงาน

3. กระตุ้นตลาดและการใช้จ่ายของผู้บริโภค อาทิ การสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand) ให้เป็นวาระแห่งชาติ และการส่งเสริมด้านการตลาดและการใช้จ่าย

4. รักษาการจ้างงานและยกระดับฝีมือแรงงาน อาทิ การรักษาการจ้างงาน และการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงาน

5. กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติอาทิ การขยายสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน การจูงใจให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ การอำนวยความสะดวกให้ผู้เชี่ยวชาญ/นักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ

6. ลดอุปสรรคจากการดำเนินงานภาครัฐ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการสร้างระบบนิเวศให้เอื้ออำนวย นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เสนอมาตรการเศรษฐกิจเฉพาะสาขาธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมภาคการผลิตที่สำคัญ อาทิ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ภาคการค้า และภาคบริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ