(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ต.ค.63 ยังหดตัว -0.50 % YoY แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 5, 2020 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ต.ค.63 ยังหดตัว -0.50 % YoY แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อน

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ต.ค.63 อยู่ที่ 102.23 หดตัว -0.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ดัชนีขยายตัว 0.05% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.63 ขณะที่ CPI ช่วง 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) เฉลี่ยหดตัว -0.94%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ต.ค.63 อยู่ที่ 102.94 ขยายตัว 0.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ติดลบ 0.02% จากเดือน ก.ย.63 ส่วน 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) Core CPI เฉลี่ยยังเป็นบวก 0.31%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 106.56 ขยายตัว 1.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.05% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 99.80 หดตัว -1.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 0.06% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.63

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนต.ค.63 แม้จะยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.50% แต่ถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ก.ย.63 ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ -0.70% สาเหตุมาจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ประกอบกับ ผลผลิตพืชผักได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ อีกทั้งราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่และผลิตภัณฑ์นม หมวดเคหะสถาน หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลปรับตัวลดลง ขณะที่สินค้าในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการการส่งเสริมการขาย และปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนต.ค.นี้ สูงขึ้น 0.19%

สำหรับสินค้าและบริการสำคัญในเดือน ต.ค.ที่ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามี 152 รายการ ได้แก่ น้ำมันดีเซล, ผักคะน้า, ผักบุ้ง, มะม่วง เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาลดลงมี 100 รายการ ได้แก่ ไก่สด, ไข่ไก่, ข้าวสารเจ้า, ข้าวสารเหนียว และผงซักฟอก เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 170 รายการ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.63) ว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มหดตัวน้อยลงตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเพิ่มวันหยุดยาว โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่เหลือของปีให้มากขึ้นได้

"มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจอยู่ในระยะเริ่มฟื้นตัว จากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาทั้ง 3 มาตรการ ทั้งเราเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน และคนละครึ่ง แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น หรือสินค้าแพงขึ้น แต่มีผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการ ทำให้สินค้าราคาถูกลง กระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

นอกจากนี้ ราคาอาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้สดยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงกันของปีก่อน ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด ประกอบกับฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป

ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4/63 จะหดตัวไม่เกิน -0.40% ส่งผลให้ทั้งปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ -0.85% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ -0.70 ถึง -1.50% ภายใต้สมมติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ที่ -7.6 ถึง -8.6% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 35-45 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 30.50-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ