BAY คาดเงินบาทแกว่งกรอบ 30.10-30.40 มองประสิทธิผลมาตรการธปท.ยังจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 23, 2020 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.10-30.40 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 30.30 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 5.7 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 5.3 พันล้านบาท ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลค่าเงินบาท ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก โดยสินทรัพย์เสี่ยงได้แรงหนุนจากข่าวความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 4-5 พ.ย. เพื่อประเมินจังหวะเวลาในการยกระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ประธานเฟดแสดงความกังวลในเรื่องความเสียหายทางเศรษฐกิจท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นในสหรัฐฯ นอกจากนี้นักลงทุนจะเฝ้าติดตามการพัฒนาวัคซีนและโค้งสุดท้ายของการเจรจา Brexit สำหรับภาพรวมตลาดโลกนั้น เงินดอลลาร์อาจย่ำฐานที่ระดับต่ำ ส่วนปริมาณธุรกรรมมีแนวโน้มเบาบางลงในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงวันหยุดเทศกาลขอบคุณพระเจ้า

สำหรับปัจจัยในประเทศ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยด้วยด้วยเสียงเอกฉันท์ โดยประเมินว่าแม้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเกินคาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สภาพคล่องยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง รวมทั้งระบุถึงความสำคัญของการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกตรึงไว้ที่ 0.50% ตลอดปี 2564

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจยังเปิดกว้างอยู่มากจากปัจจัยความไม่แน่นอนรอบด้าน ขณะที่ ธปท.เร่งผลักดันการดูแลค่าเงินบาทเพื่อให้เกิดระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) โดยกรอบของมาตรการครอบคลุมถึงการอนุญาตให้คนไทยฝากเงินในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit) ได้อย่างเสรีและโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี, การผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ รวมถึงการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ เรามองว่าแม้ประสิทธิผลของมาตรการอาจจำกัด แต่ถือเป็นสัญญาณชัดเจนว่าทางการกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและพร้อมใช้เครื่องมือดูแลอย่างตรงจุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ