กกร.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 63 ติดลบน้อยลงมาที่ -7 ถึง -6% ส่วนปี 64 คาด GDP โต 2-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2020 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเป็ปนระธานการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือน ธ.ค.63 ว่า กกร.ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 63 หดตัวน้อยลงกว่าที่ เคยคาดไว้เดิม โดยจะหดตัวอยู่ในกรอบ -7.0% ถึง -6.0% ขณะที่การส่งออกหดตัวในกรอบ -8.0% ถึง -7.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะหดตัว -1.0% ถึง -0.9%

ส่วนปี 64 แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญในระยะข้างหน้า ที่ ประชุม กกร.จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.0% ถึง 4.0% ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.8% ถึง 1.2%

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2563-2564 ของ กกร.

%YoY          2563(ณ พ.ย.63)          2563(ณ ธ.ค.63)          2564(ณ ธ.ค.63)
GDP            -9.0 ถึง -7.0            -7.0 ถึง -6.0              2.0-4.0
ส่งออก         -10.0 ถึง -8.0            -8.0 ถึง -7.0              3.0-5.0
เงินเฟ้อ         -1.5 ถึง -1.0            -1.0 ถึง -0.9              0.8-1.2

สำหรับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 แผ่วลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 ความคืบหน้าของการพัฒนา วัคซีนโควิด-19 และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เป็นปัจจัย หนุนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวมีสัญญาณแผ่วลง นอกจากนี้การส่งออกของ ไทยยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้นภายหลังจากการกลับมาระบาดที่รุนแรงขึ้นใน หลายประเทศ

เศรษฐกิจไทยคาดว่าปรับตัวดีขึ้นในปี 64 แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โลกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากมีวัคซีนใช้ในวงกว้างช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากภาคการท่อง เที่ยวที่มีสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด รวมถึงตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง

ภาครัฐยังต้องเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของครัวเรือนที่มี ความต่อเนื่องยังคงมีความจำเป็นในการประคับประคองเศรษฐกิจประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจะ เป็นแรงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึง ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยใน ระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ