จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลกเริ่มปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การดำเนินธุรกิจของบริษัทที่มีมานานถึง 121 ปี ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะซบเซา หลังจากที่มีการประเมินกันว่า บริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่หลายแห่งมีผลการดำเนินงานที่ดีมาโดยตลอด
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันมีแผนที่จะปรับลดพนักงานลงอีก 4,800 ตำแหน่ง หลังจากมีข่าวว่าบริษัทไฟเซอร์ อิงค์, บริษัทบริสตอล-เมเยอร์ สคิวบบ์ โค บริษัท แอสตร้าซีเนก้า และบริษัทเมิร์ก รวมถึงบริษัท เชอริง-พลาว คอร์ป สั่งปลดพนักงานหลายหมื่นตำแหน่ง
โดยบริษัทไฟเซอร์ ผู้ผลิตเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังปรับลดพนักงาน 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งคิดเป็น 10% ของแรงงานทั้งหมดในบริษัท ขณะที่เมิร์กสั่งลอยแพพนักงาน 7,000 ตำแหน่ง ด้านแอสตร้าซีเนก้าได้จำกัดจำนวนพนักงานลงเหลือ 7,600 ตำแหน่ง และบริษัทเชอริง-พลาว สั่งพักงานพนักงานด้านการผลิต 1,100 ตำแหน่ง ส่วนบริสตอล-เมเยอร์ สควิบบ์จะปรับลดพนักงานโดยไม่ระบุจำนวนลงอีกในปลายปีนี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับลดต้นทุนของบริษัทยาครั้งนี้เป็นทางเลือกเดียวที่จะทำให้กำไรของบริษัทฟื้นตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบริษัทอาจต้องทำเช่นนี้ไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า ก่อนที่จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคครั้งใหญ่หลวงนี้ไปได้
ทั้งนี้ อุปสรรคที่บริษัทผู้ผลิตยาหลายแห่งต้องเผชิญ ได้แก่ การแข่งขันในด้านการผลิตยา การพัฒนายาที่ยังไม่ดีพอ ความท้าทายด้านการจดสิทธิบัตร แรงกดดันด้านการปรับลดราคายา และความไม่แน่นอนของทางการสหรัฐในการอนุมัติยาที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดด้านความปลอดภัย
ด้านนางบาร์บาร่า ไรอัน นักวิเคราะห์จากธนาคารดอยซ์แบงก์มองว่า อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ทั่วโลกจะเผชิญกับความผันผวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผู้ทำประกันด้านสุขภาพ และรูปแบบเดิมๆของการได้รับผลประโยชน์จากใบสั่งยาของผู้จัดการบริษัทยาต่างๆนั้นมีแนวโน้มว่าจะปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ยาทั่วไปตามที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดมาให้ลูกค้าแทนที่การสั่งยาจากบริษัทยาชื่อดัง
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์:
[email protected]