(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ พ.ย.ทยอยฟื้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนแต่ยังไม่กระจายทั่วถึง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2020 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย.63 ว่า เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และหลายเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนด้วย โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากผลของมาตรการภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงสอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง ตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสด ที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานทรงตัวและยังมีสัญญาณความเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลตามการเกินดุลการค้าที่ลดลงจากการนำเข้าทองคำที่สูงขึ้น และการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่มากขึ้น

ธปท.ระบุว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับดีขึ้นในทุกหมวด สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่มีทิศทางทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ ประกอบกับมีผลของฐานต่ำในปีก่อนทั้งในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทน ทั้งนี้ แม้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังเปราะบางสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ยังสูง รวมทั้งยังมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้นมากจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่เปิดตัวช้ากว่าปีก่อน สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวน้อยลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ล่าช้า โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวจากการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงขึ้นตามการลงทุนของรัฐบาลกลางด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 2.3 โดยเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตยานยนต์ เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการและฐานที่ต่ำในปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 3.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในเดือนนี้ มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากขึ้นเป็นร้อยละ 6.5 โดยเป็นการหดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดสินค้าทุนที่หดตัวน้อยลงมากตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่หดตัวน้อยลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourists Visa: STV) เดินทางเข้าไทย แต่ยังมีจำนวนไม่มาก

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ด้านตลาดแรงงานทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้มีงานทำในภาพรวมที่ทรงตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานยังเปราะบาง โดยอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมยังอยู่ในระดับสูง และยังมีพัฒนาการที่แตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นช้าเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่น

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการนำเข้าทองคำ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ