วิจัยกสิกรฯ จับตาโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ชี้หากคุมได้เร็วกระทบ GDP ไม่มาก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2021 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการระบาดโควิด-19 ในรอบแรก และการระบาดระลอกใหม่ มีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1. จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงกว่า 2. การกระจายของผู้ติดเชื้อเป็นแบบวงกว้าง 3. ต้นตอของการระบาดเกิดจากภาคอุตสาหกรรม ขณะที่มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดก็แตกต่างออกไปด้วย โดยเป็นการล็อกดาวน์ที่ไม่ล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นการล็อกดาวน์บางส่วน เพื่อรักษาสมดุลระหว่างผลกระทบทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสาธารณสุข แต่อย่างไรก็ตามจำนวนของผู้ติดเชื้อรายวันยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าจะลดลงหรือจบภายใน 60 วันหรือไม่ ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบนี้จบได้เร็ว การเติบโตภายในประเทศในปีนี้ก็คงจะลดลงไม่มากจากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ที่ 2.6%

สำหรับมาตรการที่ภาครัฐจะปล่อยออกมาเพื่อช่วยเหลือ ความสนใจยังพุ่งไปที่มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค ที่ส่งผลให้การค้าขายไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ปัญหาที่เกิดในช่วงนี้คือรายได้ไม่เพียงพอ ในขณะที่มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่าง"เราเที่ยวด้วยกัน" "ช้อปดีมีคืน" และ"คนละครึ่ง" ยังดำเนินควบคู่ไปด้วย โดยภาครัฐยังมีเม็ดเงินกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างแน่นอน อีกทั้งธนาคารมองว่ามาตรการภาครัฐยังมีความจำเป็นเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก แม้ว่าหนี้สาธารณะจะมีโอกาสชนเพดานที่ 60% ของ GDP ก็ยังไม่น่ากังวล เพราะสามารถขยับกรอบได้ แต่ก็ต้องมีแผนที่จะลดภาระหนี้ลงในระยะกลางถึงยาว

ส่วนความคืบหน้าของวัคซีนโควิด-19 ที่ภาครัฐได้จัดซื้อวัคซีนจากจีนและอังกฤษจำนวน 28 ล้านโดสไว้แล้ว ซึ่งครอบคลุมประชากร 14 ล้านคน โดยในล็อตแรกนี้จะเริ่มทยอยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อน และวางแผนซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ซึ่งหากวัคซีนได้ผลดี และมีการทยอยฉีดจนครบในสิ้นปี 64 ถึงต้นปี 65 จะทำให้ ประชากรไทยเกือบครึ่งหนึ่งจะได้รับวัคซีน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคนในประเทศสูงขึ้น ภาคธุรกิจจะทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แต่การฟื้นตัวจะยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 65 ได้อย่างเร็ว เพราะภาคท่องเที่ยวจะยังค่อยๆกลับมาฟื้นตัว หลังจากแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี เป็นอย่างน้อยกว่าจะกลับมาฟื้นตัวชัดเจนขึ้น นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับตัวเลขหนี้ภาคเอกชน หรือหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3/63 อยู่ที่ราว 86.6% ของ GDP ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 91% ณ สิ้นปี 64 สำหรับตัวเลขหนี้ที่สูงขึ้นเกิดขึ้นในหลายประเทศ จากการที่ GDP หดตัวหรือโตต่ำ และหนี้ไม่ได้ลดลงเพราะมีมาตรการช่วยเหลือ เพียงแต่โจทย์เฉพาะหน้ายังเป็นการช่วยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากปัญหาโควิด-19 อย่างไรก่อน

โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินกำลังพิจารณาอยู่ และสามารถต่ออายุมาตรการให้ความช่วยเหลือได้ เช่น การพักชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เคยเข้าโครงการนี้มาแล้วได้ถึงกลางปี 64 รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารมองว่ามีโอกาสที่จะลดจาก 0.5% ลงมาเหลือ 0.25% หากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่จะต้องลดดอกเบี้ยไปจนถึง 0% เพราะธปท.ยังมีแนวทางอื่นๆ นอกเหนือจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อนำไปสู่การลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับธุรกิจ ขณะที่การฝากเงินที่ไม่ได้ดอกเบี้ยหรือต้องเสียเงินให้ธนาคารในการฝากเงินยังไม่เหมาะกับประเทศไทยในเร็ววันนี้

ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทปัจจุบันมีแนวโน้มอ่อนค่าเล็กน้อยจากปลายปี 63 ที่ 29.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากข่าวเรื่องผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจเตรียมออกมาเพิ่มเติม แต่เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ในระยะที่เหลือของปี 64 เมื่อตลาดกลับมาให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานดอลลาร์สหรัฐฯมากขึ้น จากการขาดดุลงบประมาณและดุลการค้า รวมถึงการทำมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

"หากเทียบวิกฤตรอบนี้กับปี 40 นั้น ในครั้งนี้แบงก์ยังแข็งแรงกว่ามากหลายเท่า มีสภาพคล่องเพียงพอ แต่ก็ไม่ควรละเลยความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ ส่วนภาคธุรกิจและครัวเรือนกลับมีความเปราะบางจากปัญหาหนี้สะสมและขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ธนาคารมองว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ซึ่งเกิดจากการเตรียมพร้อมล่วงหน้าและคว้าโอกาสเมื่อจังหวะมาถึง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เสริมศักยภาพ ในส่วนของแบงก์ก็ยังต้องพัฒนา Mobile banking ภาคธุรกิจอื่นๆก็พยายามหาช่องทางการขายใหม่ๆ เช่น Online shopping หรือ Food delivery ที่ได้อานิสงส์จากช่วงล็อกดาวน์"นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ