(เพิ่มเติม) ธปท.มองโควิดรอบใหม่แพร่เร็วขึ้นแต่กระทบกิจกรรมศก.ไม่มาก,ห่วงธุรกิจ-ครัวเรือนรับ Shock ได้น้อยลง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 15, 2021 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ธปท.มองโควิดรอบใหม่แพร่เร็วขึ้นแต่กระทบกิจกรรมศก.ไม่มาก,ห่วงธุรกิจ-ครัวเรือนรับ Shock ได้น้อยลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสองส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่รุนแรงเท่าระลอกแรก แต่ผลกระทบมีความแตกต่าง (uneven) ในทั้งมิติพื้นที่และกลุ่มธุรกิจ โดยจากผลของการระบาดระลอกแรกทำให้ฐานะทางการเงินของหลายภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจได้น้อยลงมาก มาตรการช่วยเหลือในรอบนี้จึงมีความจำเป็น และควรต้องมุ่งเน้นจุดเปราะบางให้ได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ขึ้นกับการแพร่ระบาด การกระจายวัคซีนในไทย รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย กระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่าการระบาดรอบแรก แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่า และพัฒนาการของวัคซีนมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบก่อน จากมาตรการที่เข้มงวดน้อยกว่า และภาคการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

"เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทั้งการผลิต การบริโภคที่ดูจากดัชนีค้าปลีกยังพอจะฟื้นตัวได้จากการระบาดในรอบแรก ไม่ได้ชะงักหรือสะดุดเยอะ ยังพอไปได้ สะท้อนว่าความต้องการสินค้าของไทยน่าจะได้รับผลกระทบไม่มาก น่าจะยังเติบโตหรือขยายตัวต่อเนื่องได้" น.ส.ชญาวดีระบุ

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวนั้น ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดในรอบแรก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ จากที่ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากนักท่องเที่ยวทีเริ่มกลับมา และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก

"ถ้าควบคุมการระบาดได้ภายในครึ่งปีแรก หมายความว่าผลกระทบที่มาจากนักท่องเที่ยวที่จะหายไป อาจจะไม่เยอะมาก เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่ได้มีมากอยู่แล้ว แต่จะมีนักท่องเที่ยวไทย ที่เข้ามาช่วยเรื่องการใช้จ่ายและการบริโภค" น.ส.ชญาวดีระบุ

ทั้งนี้ ธปท.ได้ประเมินผลกระทบจากการใช้มาตรการที่เข้มข้นแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 ใช้มาตรการระดับปานกลางในการควบคุมการระบาด ในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) และคุมการระบาดได้ผล จากนั้นเริ่มผ่อนคลายมาตรการลง จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระทบ GDP 1-1.5%

กรณีที่ 2 ใช้มาตรการระดับเข้มงวดทั่วประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็ว ในช่วง 1 เดือน (ม.ค.) จากนั้นค่อยเริ่มผ่อนคลายมาตรการลง จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระทบ GDP 2-2.5%

กรณีที่ 3 ใช้มาตรการระดับปานกลางไม่ได้ผลใน 1 เดือนแรก (ม.ค.) จนต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในช่วง ก.พ.-เม.ย. จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระทบ GDP 3-4%

อย่างไรก็ดี จากทั้ง 3 กรณีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากโควิดในรอบใหม่นี้ ยังไม่รวมปัจจัยเพิ่มเติมที่มีผลต่อการประเมิน คือ มาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ, การกระจายวัคซีนและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป และโอกาสที่โควิดจะกลับมาระบาดรอบใหม่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ "หลายๆ อย่าง ยังมีความเสี่ยง ยังมีความไม่แน่นอน และยังมีข้อมูลที่จะต้องเข้ามาปรับในการมองภาพไปข้างหน้า ตัวเลขที่ให้ไปนี้เป็นการประเมินผลกระทบ ไม่ใช่ภาพที่จะไปหักลบกับ GDP ได้โดยตรง เพราะการประเมิน GDP จะต้องมีหลายตัวแปรเข้ามา" น.ส.ชญาวดี ระบุ

อย่างไรก็ดี ผลกระทบและการฟื้นตัวในระยะต่อไปจะต่างกัน ทั้งเชิงพื้นที่กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มแรงงาน โดยพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวดครอบคลุมสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงเกินครึ่งของประเทศ ขณะที่ด้านกลุ่มธุรกิจ จะมีกลุ่มที่เปราะบางเพิ่มเติมจากรายได้จะลดลงในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มบริการ ขณะที่บางกลุ่มที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว เช่น ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่นี้เพิ่มเติมอีก ส่วนด้านแรงงาน ในพื้นที่สีแดงที่มาตรการควบคุมเข้มงวด คาดว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจะมีประมาณ 4.7 ล้านคน

ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในแต่ละ sector จะพบว่าผลกระทบแตกต่างกันไป โดยในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดรอบแรก และถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดรอบใหม่ ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง คือ โรงแรม ร้านอาหาร และขนส่งผู้โดยสาร ขณะที่การขนส่งสินค้าได้รับผลกระทบเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ใน 2 กลุ่มนี้ ผู้ประกอบการยังไม่เลิกจ้างพนักงาน แต่หากสถานการณ์ดีขึ้นใน 1-2 เดือน ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบแรก จะมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจจะส่งผลต่อการจ้างงานได้

ส่วนกลุ่มธุรกิจการผลิต พบว่ายอดคำสั่งซื้อและกระบวนการผลิตยังสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ แต่จะมีผลกระทบเฉพาะโรงงานที่มีแรงงานติดเชื้อ ซึ่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ส่วนกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่มีความกังวลต่อความไม่สะดวกในการเข้าเยี่ยมชมโครงการ และการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยผู้ประกอบการใน 2 กลุ่มนี้ ยังไม่เลิกจ้างพนักงาน เพราะกังวลปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวสูง

"ในระยะข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอนสูงในเรื่องการแพร่ระบาด การกระจายวัคซีน และการปรับพฤติกรรมของประชาชน อีกทั้งในปัจจุบันหลายภาคธุรกิจและครัวเรือนมีฐานะการเงินที่เปราะบางขึ้นมากจากการระบาดรอบแรก ทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ผลกระทบรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น การช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานอย่างทันการณ์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และต้องเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง (targeted) ให้ทั่วถึงมากที่สุด" น.ส.ชญาวดี กล่าว

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการระบาดรอบใหม่นี้ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น จากภาระของครัวเรือนที่มีมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงรั้งการบริโภค ดังนั้นจึงถือเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องก่อหนี้เพิ่มหากครัวเรือนนั้นๆ มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินหรือสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ

"หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น จะฉุดรั้งการฟื้นตัว (เศรษฐกิจ) อยู่แล้ว แต่มาตรการที่ ธปท.มี คือการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้ามีหนี้สูง ก็สามารถไปคุยกับสถาบันการเงินที่ตนเป็นลูกหนี้อยู่ เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาชำระหนี้ออกไป หรือเกลี่ยภาระออกไปข้างหน้าก่อน" น.ส.ชญาวดีกล่าว

ทั้งนี้ ยอมรับว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดรอบใหม่นี้ มีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 64 ลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 3.2% (ประเมินไว้เมื่อ ธ.ค.63) ซึ่งต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้พิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบอย่างครบถ้วนก่อน เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง อีกทั้งแต่ละกลุ่ม และแต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกันไป ซึ่งสิ่งสำคัญมากกว่า คือการเยียวยาและช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เพื่อเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ