รฟม.แจงค่าโดยสารสายสีส้ม 62 บ.ใช้เป็นฐานเพื่อเปิดประมูลแต่เก็บจริง 15-45 บ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2021 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวจากสื่อหลายแห่งอ้างอิงข้อความในโซเชียลมีเดียระบุว่าค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีส้มพอๆ กับสายสีเขียว ที่กระทรวงคมนาคมแย้งว่าแพง

รฟม.ระบุถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังนี้

1.เอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request for Proposal: RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ระบุอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 ม.ค.66 เริ่มต้นที่ 17 บาท คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3-4 บาท/สถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานีขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ(รายงาน PPP) ของ รฟม.ที่มีสมมติฐานกำหนดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 66-67 ซึ่งคำนวณตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization

2.การที่เอกสาร RFP ระบุอัตราค่าโดยสารดังข้างต้นมีจุดประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับเอกชนทุกรายใช้อ้างอิงในการประเมินรายได้ของเอกชนเพื่อจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการฯ ด้วยสมมติฐานเดียวกัน ประกอบกับในขั้นตอนการประเมินข้อเสนอ รฟม. จะสามารถประเมินรายละเอียดข้อเสนอของเอกชนแต่ละรายบนบรรทัดฐานเดียวกันได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น อัตราค่าโดยสารข้างต้นจึงไม่ใช่อัตราค่าโดยสารที่ รฟม.จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเปิดบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว เนื่องจาก รฟม. ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดในการปรับลดอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ และประชาชนยอมรับได้ (Willingness to pay)

ทั้งนี้ รฟม. คาดการณ์อัตราค่าโดยสารเมื่อเปิดให้บริการโครงการสายสีส้มส่วนตะวันออกในปี 67 (โดยใช้สมมติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี) จะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 15 บาท และอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารประมาณ 1 แสนคน/วัน และ เปิดตลอดสายจากบางขุนนท์-มีนบุรีในปี 69 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 4 แสนคน/วัน

3.เมื่อการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ในขั้นตอนการประเมินข้อเสนอของเอกชนแล้วเสร็จ รฟม. จะเจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นพื้นฐานอัตราเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพูและสายสีเหลือง ที่อ้างอิงตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ปรับอัตราโดยอ้างอิงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Non-food & beverages) ตามที่เกิดขึ้นจริง และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. อัตราค่าโดยสารจะเหมาะสมและช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

นายภคพงศ์กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสมนั้น มีปัจจัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องหลายมิติที่สมควรจะต้องนำมาประกอบในการพิจารณาด้วย ได้แก่

(1) การพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นและอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่เหมาะสม มีปัจจัยสำคัญประกอบ การพิจารณา ได้แก่พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร ระยะเดินทางเฉลี่ยของผู้โดยสาร ความเต็มใจในการจ่ายค่าโดยสารของประชาชน (Willingness to pay) เป็นต้น ดังนั้นกรณีที่กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดที่ 104 บาท โดยพิจารณาเทียบกับระยะทาง 84 กิโลเมตร คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 1.23 บาท/กิโลเมตร จึงอาจไม่ได้สะท้อนค่าโดยสารจริงที่ประชาชนพึงพอใจในการจ่ายค่าเดินทาง เนื่องจากไม่ได้นำปัจจัยด้านพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารมาประกอบการพิจารณาด้วย

(2) ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะ ดังนั้นอัตราค่าโดยสารจึงควรเป็นอัตราที่เหมาะสมและประชาชนยอมรับได้นอกจากนี้กิจการรถไฟฟ้าไม่ใช่กิจการที่ภาครัฐลงทุนโดยโครงการต้องมีความคุ้มทุน หรือเป็นกิจการที่ภาครัฐมุ่งทำกำไรเป็นหลัก จึงสมควรที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารอย่างรอบคอบ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัว ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดแล้ว ยังจะสามารถช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่หนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันได้ด้วย

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตรจำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ยังมีกรณีฟ้องร้องนั้น นายภคพงศ์ คาดว่า เมื่อศาลมีคำสั่งออกมา จะสามารถเร่งรัดขั้นตอนการพิจารณาประเมินข้อเสนอได้เรียบร้อย ภายใน 2 เดือน หรือในเดือน มี.ค. เนื่องจากมีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 2 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ