SCB EIC-KBANK มองส่งออกไทยแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนรออยู่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 26, 2021 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB EIC-KBANK มองส่งออกไทยแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนรออยู่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวดีกว่าที่เคยประเมิน จากปัจจัยความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน และการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ดังนั้นการส่งออกของไทยจึงได้รับอานิสงส์ไปด้วย

โดยในเดือนก.พ. เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว สนับสนุนให้ตัวเลขการส่งออกไทยหลังหักทองคำของไทยในเดือนก.พ.2564 สามารถขยายตัวได้ถึง 4.01% อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมตัวเลขการส่งออกหดตัวลดลงเล็กน้อยที่ -2.59% แต่มูลค่าการส่งออกยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยการส่งออกเดือนก.พ. 5 ปีย้อนหลัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกไทยในเดือน ก.พ.64 มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากเดือนก่อน ได้รับปัจจัยหนุนหลักจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าพบว่าการส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

"มองว่า การส่งออกไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.5% โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 3.0%" บทวิเคราะห์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการส่งออกของไทยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนอีกหลายด้าน ทั้งในเรื่องการระบาดของโควิด-19 ในบางประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มขึ้น อีกทั้งเริ่มมีการระบาดระลอกที่ 3 ในยุโรปทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

นอกจากนี้ ความเสี่ยงในเรื่องของการขาดแคลนตู้สินค้า และค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องการกระจายวัคซีน อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องเรือขนส่งสินค้าติดขวางในคลองสุเอช ประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำที่ใหญ่เป็นระดับโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งทางเรือ (เป็นเส้นทางขนส่งของสินค้าราว 10% ของปริมาณการค้าโลก) โดยยังคงติดตามว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อใด

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการส่งออกในไตรมาส 1/64 อาจจะไม่ขยายตัวเป็นบวก โดยจะเริ่มเห็นการขยายตัวเป็นบวกในไตรมาส 2 เป็นต้นไป

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกไทยในเดือนก.พ.64 หดตัว -2.6% แต่หากหักทองคำ การส่งออกจะขยายตัวได้ 4.0% สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของภาคการส่งออก โดยเป็นการฟื้นตัวอย่างทั่วถึง และกระจายตัวในหลายสินค้า ซึ่งพิจารณาจากสัดส่วนสินค้าที่กลับมาขยายตัวในช่วงหลัง (สัดส่วนสินค้าที่ขยายตัวเฉลี่ยช่วงเดือน ธ.ค.20 - ก.พ.21 มีสูงถึง 65.5%) มีมากกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างชัดเจน โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกฟื้นกลับมาสูงกว่าในช่วงก่อนการระบาดแล้ว ได้แก่ สินค้าเกษตร เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป

ในระยะต่อไป EIC คาด การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และยังอาจได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีแนวโน้มได้รับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunnity) ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ออกมาตรการขนาดใหญ่กว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็จะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย จึงทำให้ EIC มีการปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปี 64 เป็น 6.4% ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity prices) หลายประเภทที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไทย ผ่านการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินค้าเกษตร (เช่น น้ำตาล, ยางพารา และข้าว) น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปีนี้ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ประกอบด้วย

1. ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และอัตราค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่อง แม้ล่าสุดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว และอัตราค่าระวางเรือเริ่มปรับลดลงในช่วงเดือนมีนาคม 64 แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นต้นทุนต่อผู้ส่งออกไทย โดยคาดว่าปัญหาดังกล่าว จะยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 64 ก่อนจะปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

2. การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากในช่วงก่อนหน้าที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้หลายโรงงานสำคัญต้องหยุดการผลิต ขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมาก ทำให้การผลิตชิปไม่สามารถทำได้ทัน นอกจากนี้ ภัยแล้งที่รุนแรงในรอบหลายปีที่เกิดขึ้นในไต้หวันซึ่งเป็นประเทศหลักที่มีการผลิตชิปป้อนตลาดโลก ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการขาดแคลนชิป เนื่องจากโรงงานต้องลดการใช้น้ำลงอย่างมาก การผลิตชิปจึงไม่สามารถทำได้เต็มศักยภาพ

3. ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมา ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเมียนมาหยุดชะงัก การส่งออกไทยไปเมียนมาจึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยล่าสุด การส่งออกไปเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 64 หดตัวถึง -29.5% ซึ่งสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเมียนมา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และเหล็ก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ