(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยยอดส่งออกรถยนต์ เม.ย. โต 160.16% มาที่ 52,880 คัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 20, 2021 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ในเดือน เม.ย.64 ส่งออกได้ 52,880 คัน เพิ่มขึ้น 160.16% จากเดือน เม.ย.63 เนื่องจากฐานต่ำปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์ แต่ยังส่งออกน้อยกว่าเดือน มี.ค.64

อย่างไรก็ตาม จากการมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นของประเทศคู่ค้า ทำให้ยอดขายของประเทศคู่ค้าในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเติบโตอย่างโดดเด่นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น ประเทศออสเตรเลีย เติบโต 127% ญี่ปุ่น เติบโต 29% เวียดนาม เติบโต 75% อินโดนีเซีย เติบโต 1,002%

ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 310,988 คัน เพิ่มขึ้น 14.92% มูลค่าการส่งออก 173,012.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.50% จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน

"การส่งออกปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้น คาดว่ายอดส่งออกจะเกินเป้าที่ตั้งไว้ทั้งปี 7.5 แสนคัน แต่ขอดูอีกสัก 2 เดือน เนื่องจากยังมีปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การขาดแคลนชิป และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง" นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าว

ขณะที่จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือน เม.ย.64 มีทั้งสิ้น 104,355 คัน เพิ่มขึ้น 322.30% จากเดือน เม.ย.63 แต่ลดลง 35.79% จากเดือน มี.ค.64 โดยการผลิตเพิ่มขึ้นมาจากฐานต่ำปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกช่วงต้นปี 63 แต่ยอดผลิตยังต่ำกว่าเดือน เม.ย.62 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 และช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีรถยนต์ที่ผลิตได้จำนวนทั้งสิ้น 570,188 คัน เพิ่มขึ้น 19.19% จากจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน

"เป้าการผลิตที่ 1.5 ล้านคัน ในปีนี้เป็นเป้าต่ำสุด โดยคำนึงถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองเมื่อต้นปีและระลอกใหม่ตลอดปี 64 รวมทั้งการขาดแคลนชิปที่ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต้องหยุดผลิตชั่วคราวเป็นระยะแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเพิ่มเป้าการผลิตรถยนต์ เพราะยังกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 ระลอกสามในประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ รวมถึงเรื่องการขาดแคลนชิปที่ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและทั่วโลกหยุดผลิตชั่วคราวเป็นระยะๆ" นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนปัญหาขาดแคลนชิปนั้นส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ทั่วโลกราว 1 ล้านคัน ซึ่งคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะยืดเยื้อราว 2 ปี ซึ่งทางผู้ผลิตรถยนต์ได้ปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยลดการผลิตในรุ่นที่ตลาดมีความต้องการน้อย เพื่อนำชิปไปใช้ผลิตรถยนต์ที่ตลาดมีความต้องการสูง

"การผลิตชิปมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เพราะในพื้นที่ที่อากาศหนาวจัดก็ขนส่งลำบาก ในพื้นที่แห้งแล้งก็ขาดแคลนน้ำสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต" นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน เม.ย.64 มีจำนวนทั้งสิ้น 58,132 คัน เพิ่มขึ้น 93.1% จากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว แต่ลดลง 21.76% จากเดือน มี.ค.64 เนื่องจากลูกค้าที่จองขอเลื่อนการรับรถยนต์ไปก่อน เพราะไม่มั่นใจในเรื่องรายได้ในอนาคตจากการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งบริษัทปล่อยสินเชื่อก็เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อด้วย

"ยอดจองเกิดขึ้นจากงานมหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะและรถพีพีวี เนื่องจากสินค้าเกษตรมีราคาดี แต่พอระบาดระลอกใหม่ยอดจองก็ชะลอตัวลง ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนคลายกว่าการระบาดช่วงก่อนหน้านี้ แต่มีจำนวนยอดติดเชื้อและเสียชีวิตสูง ทำให้ประชาชนงดเดินทาง" นายสุรพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ