โฆษกศบศ.คาด "สมุย พลัส" เดือนแรกสร้างรายได้กว่า 180 ลบ. เตรียมขยายพื้นที่ต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 17, 2021 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าเปิดการท่องเที่ยว โดยล่าสุดมีการเปิดโครงการ "สมุย พลัส โมเดล" ตามแผนการเปิดประเทศไทยเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันเตรียมการและผลักดันการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้รูปแบบสมุย พลัส โมเดล ซึ่งถือเป็นความต่อเนื่องจากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สะท้อนถึงการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นไปตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการการเฝ้าระวังในพื้นที่ มาตรการป้องกันควบคุมโรค มาตรการป้องกันส่วนบุคคล มาตรการด้านสังคมและการกำกับติดตาม รวมทั้งระบบการรายงาน การส่งต่อและการรักษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติที่จะเดินทางมา

เบื้องต้นจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาสมุยในระหว่างวันที่ 15 ก.ค. - 15 ส.ค. นี้ ราว 1,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 180 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าเก่าของทั้งสามเกาะ เช่น กลุ่มยุโรป กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มครอบครัว ขณะที่มีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดโดยมีการเปิดเส้นทางการบินระหว่างเกาะสมุยและเกาะภูเก็ตบินแบบวันเว้นวันด้วย

ทั้งนี้ ในเดือน ส.ค. 64 จะขยายพื้นที่นำร่องไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ เกาะพีพี ไร่เล และเกาะไหง จ.กระบี่ รวมถึงเขาหลัก และเกาะยาว จ.พังงา จากนั้นในเดือน ก.ย.จะเริ่มในพื้นที่ทางบก ได้แก่ พัทยา เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพีต่อไป

นายธนกร กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังได้วางแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศคู่ขนานกันไป โดยหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจออกไป มีเสียงตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศใช้จ่ายผ่านโครงการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสม รวม 33.87 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 30,885.4 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 20.70 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 27,922.5 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 14,105.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 13,816.8 ล้านบาท 2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 46,447 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 354.9 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 12.46 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,477 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 665,464 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 131 ล้านบาท โดยใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า หรือผู้ให้บริการแบบพบหน้า (face-to-face) ก่อน

ส่วนแนวทางขยายสิทธิในการสั่งซื้ออาหารผ่านผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่และทางออนไลน์นั้น ขณะนี้ธนาคารกรุงไทย (KTB) อยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขและพัฒนาระบบ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการอีกสักระยะ เพื่อให้มีความพร้อม สะดวกต่อการใช้งานของประชาชนในอนาคต

สำหรับยอดการลงทะเบียนล่าสุดของวันที่ 15 ก.ค. 2564 โครงการคนละครึ่งมีการลงทะเบียนแล้ว 29.62 ล้านคน เหลืออีก 1.37 ล้านคนจะครบ 31 ล้านคน ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ลงทะเบียนแล้ว 490,860 สิทธิ เหลืออีก 3,509,140 จะครบ 4 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนไปจนกว่าจะครบจำนวนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ