เตือนคนไทยเก็บออมเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณ-เตรียมความพร้อมรับกฎหมาย กบช.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 23, 2021 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการสายธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 6 "เจาะลึก กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ.2564" ว่า ประชากรไทยที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปในปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 20% เรียกได้ว่าประเทศไทยนั้นได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ปัญหาใหญ่ คือ ยังขาดการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน และขาดความรู้ทางด้านการเงิน

ทั้งนี้ ประชากรไทยจำนวนทั้งสิ้น 67 ล้านคน อยู่ในวัยแรงงาน 38 ล้านคน และในส่วนนี้อยู่ในแรงงานภาคเอกชน 15 ล้านคน โดยมีเพียง 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.8% ของลูกจ้างภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) สะท้อนให้เห็นว่ายังมีแรงงานภาคเอกชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีเงินออมเพื่อวัยเกษียณ หรือคิดเป็นประมาณ 80% ขณะเดียวกันก็มีจำนวนนายจ้างที่มีสวัสดิการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้าง คิดเป็น 3% ของนายจ้างทั่วประเทศเท่านั้น

ก.ล.ต.ได้มีการคำนวณเอาไว้ว่า ณ วันที่เกษียณ ควรมีเงินประมาณ 3 ล้านบาท หรือเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประมาณ 12,500 บาท/เดือน หรือคิดเป็นวันละ 400 บาท แต่มีเพียง 20.8% ของประชากรไทยที่มีการเก็บออมและมีเงินเพียงพอในวัยเกษียณ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมนอกจากการออมเพื่อการเกษียณที่ไม่เพียงพอแล้ว เงินที่ออมอยู่ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพเช่นกัน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันแก้ไข

ด้าน น.ส.สุปาณี จันทรมาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการออม การลงทุนและพัฒนาตลาดทุน สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ถือเป็นการกำหนดเงินสมทบในลักษณะสมัครใจ โดยปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ราว 3 ล้านคน จากเป้าหมายที่ควรจะเข้ามาของมาตรา 33 ของระบบประกันสังคม 12 ล้านคน และปัจจุบันได้เฉพาะบำนาญจากประกันสังคม มากที่สุด 3,000 บาท จากรายได้เฉลี่ย 16,000 บาท ซึ่งไม่ถึง 20% โดยรายได้ 20% ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายตอนเกษียณถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะได้รับ ไม่ต่ำกว่า 50% ในส่วนนี้ที่เหลืออีก 30% ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแลคนในประเทศ เพื่อให้มีรายได้หลังเกษียณให้เพียงพอ จึงเป็นที่มาของ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.)

สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก PVD เพื่อให้แรงงานในระบบได้มีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติม และมีรายได้ไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ

ขณะที่คุณสมบัติของการเป็นสมาชิก ประกอบด้วย ลูกค้าที่มีอายุ 15-60 ปี ทั้งที่เป็นลูกจ้างเอกชน, ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ, พนักงานราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน โดยการบังคับเข้าสู่ระบบ กบช.นั้น นับแต่วันที่เปิดรับสมาชิก จะให้ระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้สถานประกอบการต่างๆ เตรียมตัวและเริ่มส่งเงินเข้ามา ซึ่งจะเริ่มบังคับองค์กรขนาดใหญ่ก่อน คือ กิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป, กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ, รัฐวิสาหกิจ, องค์การมหาชน, หน่วยงานรัฐที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมาย กบข., กิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน และกิจการที่ประสงค์จะเข้าระบบ กบช.

นอกจากนั้นเมื่อเข้าปีที่ 4 นับจากการประกาศใช้พ.ร.บ.กบช. จะบังคับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และปีที่ 6 นับจากการประกาศใช้ก็จะบังคับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เข้ามาในระบบ กบช. แต่หากผู้ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ก็สามารถอยู่ในระบบเดิมได้ แต่ต้องมี 1 ระบบที่เป็นกองทุนเงินออมเพื่อการเลี้ยงชีพ" น.ส.สุปาณี กล่าว

ด้านการส่งเงินกำหนดไว้ว่าอัตราเงินสะสมและเงินสมทบ (เพดานค่าจ้าง 60,000 บาท) ปีที่ 1-3 นับแต่วันที่ กบช. เปิดรับสมาชิก ฝ่ายละไม่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 3% ของค่าจ้าง, ปีที่ 4-6 ฝ่ายละไม่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5% ของค่าจ้าง, ปีที่ 7-9 ฝ่ายละไม่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 7% ของค่าจ้าง และปีที่ 10 ฝ่ายละไม่เกิน 10% ของค่าจ้าง

สำหรับลูกจ้างที่รายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ให้นายจ้างส่งเงินในส่วนของนายจ้างฝ่ายเดียว และลูกจ้าง หรือนายจ้างส่งเพิ่มได้ไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง

ด้านผลประโยชน์ตอบแทน สมาชิกเลือกรับบำนาญ 20 ปี หรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ขณะที่สิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสะสม เงินผลประโยชน์ และเงินที่ได้รับการเกษียณอายุ (EEE)

น.ส.สุปาณี กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และจะนำส่งไปยังกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นนำเข้าสภาฯ และมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยให้เวลา 1 ปีเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่กิจการจะนำเงินส่งเข้าระบบฯ

นางณัฐญา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการที่มี กบช. เพื่อให้แรงงานภาคเอกชนได้รับเงินออมที่ครอบคลุม 100% ซึ่งในหลักการการออมเงินเพื่อการเกษียณจะไปใช้ทาง กบช. หรือใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ได้ แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะใช้ทดแทนภาคบังคับดังกล่าวได้จะต้องมีคุณสมบัติไม่ด้อยกว่าของ กบช.

ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีปัจจุบัน และหลักเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รองรับร่างพ.ร.บ.กบช. ซึ่งก.ล.ต. จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ. PVD คาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาส 4/64


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ