คลัง เผยดัชนี RSI ก.ค.ปรับลงจากเดือนก่อนทุกภูมิภาค รับผลกระทบโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 28, 2021 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลัง เผยดัชนี RSI ก.ค.ปรับลงจากเดือนก่อนทุกภูมิภาค รับผลกระทบโควิด

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ว่า ดัชนี RSI ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกภูมิภาค เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

อย่างไรก็ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ยังมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 57.6 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นข้าวนาปีอ้อยโรงงานและมันสำปะหลัง ประกอบกับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรสำหรับภาคอุตสาหกรรมคาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

  • ภาคตะวันออก

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 56.1 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเช่นกันโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ส่งผลให้มีแนวโน้มผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ ยังมีความต้องการสินค้าเกษตรจากตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นตามการส่งออกของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

  • ภาคเหนือ

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 51.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรรม เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการเพาะปลูก ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ลำไย และน้อยหน่า เป็นต้นสำหรับภาคอุตสาหกรรม คาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น

  • ภาคใต้

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 46.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวชะลอลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร เนื่องจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น มังคุด และทุเรียน เป็นต้น

  • ภาคตะวันตก

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ 41.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอลงเช่นกัน แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรซึ่งยังมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว และคาดว่าจะมีความต้องการสินค้าเกษตรภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

  • กทม. และปริมณฑล

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ 40.2 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการลงทุนและการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ต้องลดปริมาณการผลิต และลดชั่วโมงการทำงานลง

  • ภาคกลาง

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 37.7 สะท้อนภาวะอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่นกันโดยเฉพาะในภาคการลงทุน ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ