กสิกรฯหั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้หดตัว -0.5% จากโควิดลากยาวกระทบกิจกรรมในประเทศชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 16, 2021 19:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 64 คาดว่าจะหดตัวที่ -0.5% จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1% เมื่อเดือนก.ค 64 ที่ผ่านมา โดยรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้ในเดือนก.ค. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่จำนวนเคสผู้ติดเชื้อรายวันอาจยังไม่ผ่านจุดสูงสุด ทำให้มาตรการล็อกดาวน์อาจใช้ระยะเวลายาวขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงที่เป็นประเด็นติดตามยังอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่นอกจากอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกแล้ว ยังอาจทำให้สินค้าในประเทศขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลา

โดยเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 64 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/64 ที่ขยายตัว 7.5% เมื่งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกของปี 64 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2% เมื่อเทีนบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแรงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19

ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/64 ที่ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำ และการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นเป็นหลัก โดยการส่งออกสินค้าในไตรมาส 2/64 ขยายตัวที่ 36.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up demand)

ขณะที่การบริโภคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 2/64 แม้ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าเนื่องจากฐานที่ต่ำ แต่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนกลับหดตัว 2.5 จากไตรมาสก่อนหน้า เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าที่เคยประเมิน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 1% มาเป็นหดตัว 0.5% จากปีก่อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่มีแนวโน้มรุนแรงและลากยาวขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนก.ค. 64

การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะแตะระดับสูงสุดในเดือนก.ย. 64 และจะค่อยๆลดจำนวนลง แต่กว่าสถานการณ์จะควบคุมได้หรือจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงต่ำกว่า 1,000 คน/วัน คาดว่าไม่เร็วไปกว่าไตรมาส 4/64

โดยคาดว่ารัฐบาลจะยังคงมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดไปไม่ต่ำกว่า 2 เดือน (เริ่มก.ค. 64) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ตามมา และแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่คงไม่สามารถชดเชยผลกระทบได้ทั้งหมด ทำให้คาดว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยในไตรมาส 3/64 จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 3.5 และ 4.9 ตามลำดับ

นอกจากนี้แม้ว่ารัฐบาลอาจมีการทยอยผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในบางธุรกิจ แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสยังไม่สูงมากก็จะทำให้ประเด็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่กลับมาปกติ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยอาจน้อยกว่าที่คาด เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้อาจลดลงอยู่ที่ราว 1.5 แสนคน แม้ว่าจะมีการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโครงการ "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" และโครงการ "สมุย พลัส โมเดล"

ขณะที่ภาคการผลิตเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการแพร่ระบาดในโรงงาน โดยหากการแพร่ระบาดยังคงไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลให้เกิดการปิดโรงงาน และมีผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่การผลิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

นอกจากนี้อาจทำให้สินค้าในประเทศเกิดภาวะขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลาอีกด้วย อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า อาจจะยังส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ