พาณิชข์ สรุปเป้าส่งออกปี 51 ในต้นธ.ค. คาดไม่ต่ำกว่าปีนี้ที่ 12.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 27, 2007 18:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กระทรวงพาณิชย์ สรุปเป้าหมายส่งออกปีหน้าได้ในเดือนธ.ค.นี้ คาดไม่ต่ำกว่า 12.5% ในปีนี้ แต่ผู้ส่งออกยังกังวลปัญหาราคาน้ำมัน เงินบาทแข็งค่า และปัญหาซับไพร์ม ตั้งเป้ารายอุตสาหกรรมโตไม่มาก  
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า กรมจะประชุมสรุปคาดการณ์ส่งออกปี 2551 ในต้นเดือนธ.ค.นี้ เพราะขณะนี้ได้หารือกับผู้ส่งออกเกือบจะทุกอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ ที่ตั้งเป้าหมายขยายตัวที่ 12.5% มูลค่า 145,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ยังเป็นห่วงในเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งขณะนี้แข็งค่าขึ้นไปถึง 33 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จนกระทบต้นทุนการผลิตสินค้า และค่าขนส่ง รวมถึงปัญหาตลาดสหรัฐฯซบเซาต่อเนื่อง แต่ในกลุ่มสินค้าที่หารือ เช่น โทรทัศน์ คาดว่าการส่งออกจะกลับมาคึกคัก แม้ไทยจะถูกสหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี)
ด้านนายสมบูรณ์ เจือเสถียรรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องนุ่มห่มไทย กล่าวว่า ปี 2551 คาดว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3-4% จากปีนี้ที่คาดไม่ขยายตัว โดย 10 เดือนแรกยังติดลบ 4% ทั้งนี้เพราะการส่งออกไปสหรัฐฯจะขยายตัวดีขึ้น เห็นได้จากคำสั่งซื้อของสหรัฐฯในช่วงปลายปีที่มีมากขึ้น เพราะปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) เริ่มคลี่คลาย
อีกทั้งคาดว่า ปัจจัยเสี่ยงจากค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยขณะนี้ผู้ประกอบการปรับตัวรับการแข่งขันได้ในระดับที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาที่ประมาณ 34 บาท/ดอลลาร์ แต่หากปีหน้าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ คงจะมีโรงงานสิ่งทอหลายโรงปิดตัวเพิ่มขึ้น เพราะแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว
"ปีนี้ถือว่าแย่สุด โดยตัวเลขสิ่งทอช่วง 10 เดือนแรก ติดลบ 4% เลวร้ายสุดในรอบ 10 ปี แต่ปีหน้าคาดว่าจะดีขึ้น เพราะเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะดูแลค่าบาทไม่ให้แข็งค่ามากไปกว่านี้ ส่วนปัจจัยน้ำมันเป็นผลกระทบที่ผู้ประกอบการต้องยอมรับ เพราะเกิดขึ้นกับทั่วโลก จึงต้องเร่งแก้ไขในเรื่องโลจิสติกส์ เพื่อให้ต้นทุนต่ำลงที่สุด" นายสมบูรณ์ กล่าว
ส่วนนายสุขใจ เหลืองมีกูล กรรมการฝ่ายพัฒนาการส่งออก/งานแสดงสินค้า สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย คาดว่า ปีหน้าการส่งออกกลุ่มนี้จะขยายตัว 15% มูลค่า 6,900 ล้านดอลลาร์ ชะลอตัวจากปีนี้ที่คาดส่งออกเพิ่มขึ้น 30% มูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์ เพราะตลาดชิ้นส่วนยานยนต์แข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะกับจีน อินเดีย และเวียดนาม
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเรื่องค่าเงินบาท แม้ผู้ประกอบการจะปรับตัวจากผลกระทบได้แล้ว แต่ก็ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวน้อยลง ประกอบกับ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันแพง โดยขณะนี้อุตสาหกรรมต้นน้ำคือ โรงงานแม่พิมพ์ที่ใช้ทำชิ้นส่วนยานยนต์ปิดตัวมากขึ้น จากการที่ธนาคารพาณิชย์ไม่รับค้ำประกัน ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) มีเงินทุนหมุนเวียนไม่พอ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ