SCB มองศก.ปี 51 ยังเสี่ยงซับไพร์ม-บาทแข็ง-น้ำมันแพง-ดีมานด์ฟื้นไม่ชัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 28, 2007 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการกลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวในการสัมมนา"แนวโน้มเศรษฐกิจและประเด็นที่ต้องจับตามองในปี 51"ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในปีหน้าจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม และการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่โอกาสเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังการเลือกตั้งยังเป็นไปได้ระดับหนึ่ง แม้ยังมีประเด็นที่ต้องระวัง
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดในสหรัฐทำให้นักลงทุนต้องการลดการถือครองเงินดอลลาร์ จึงจะส่งผลกระทบทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัส(WTI)ในปีหน้าจะอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ 75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าปีนี้ประมาณ 10 เหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อและความสามารถในการบริโภคของไทย
โอกาสที่เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งอาจจะดีขึ้นก็ยังมีอยู่ แต่ประเด็นที่ต้องระมัดระวัง คือ ความต้องการ(ดีมานด์)ในประเทศ ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะฟื้นตัวแน่นอนหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาความต้องการบริโภคและการลงทุนที่ไม่ได้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาแรง เพราะเหตุที่ลดลงไปไม่ได้ขึ้นกับความเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับสภาพโดยรวมต่าง ๆ ในประเทศที่ยังตึงตัวอยู่
ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ไทยถูกรัดเข็มขัดมานาน โดยตกอยู่ใน 4 มิติ คือ เงินบาทแข็งค่า ทำให้ความสามารถในการส่งออกลดลง แม้ตัวเลขส่งออกจะดี แต่รายได้เป็นบาทลดลง, รายได้ของคน ในปีที่แล้วรายได้โตกว่า 6% แต่ครึ่งแรกของปีนี้เติบโตแค่ 1.3% ช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อด้วยซ้ำ
นโยบายการเงินและการคลังค่อนข้างตึงตัว รวมทั้งสภาพคล่อง ขณะที่สินเชื่อเองก็ไม่ได้เติบโตมากนัก ภาครัฐยังใช้มาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยเกินไป ซึ่งหากปีหน้าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่องก็ควรจะหันมาใช้นโยบายการคลังมากกว่ามาตรการด้านการเงิน โดยเฉพาะวิธีออกงบกลางปี และมิติที่ 4 นโยบายประชานิยมที่จะออกมาจากรัฐบาลชุดใหม่ จะส่งผลให้รัฐมีรายจ่ายมากขึ้น ทำให้โอกาสในการบริหารจัดการของภาครัฐยังมีความเสี่ยง
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัวในปีหน้า โดยเฉพาะสหรัฐ จะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าและอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวประมาณ 3% ส่วนอัตราดอกเบี้ยมองว่าถึงสิ้นปีคงไม่มีการปรับลดลงอีกแล้ว แต่จะปรับขึ้นในไตรมาส 3/51 ด้านดอกเบี้ยระยะยาวจะเริ่มสูงขึ้นจาก yield curve และปริมาณพันธบัตรที่ออกมา
ภาคการส่งออกปีหน้าจะเติบโตน้อยกว่าปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตราว 12% หลัก ๆ จะมาจากชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า และยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทยอยู่แล้วและยังสามารถเติบโตได้ดี เพราะมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก จึงได้ประโยชน์จากภาวะบาทแข็ง แต่การส่งออกสิ่งทอจะชะลอตัวลง ขณะที่การบริโภคจะยังไม่ดีนักคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 3/51

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ