กูรูเศรษฐกิจมองปี 65 ฟื้นช้าเหตุแรงส่งท่องเที่ยวยังแผ่ว-แนวโน้มส่งออกชะลอลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 24, 2021 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "Thailand 2022 เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก" ว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่ยังเป็นความเสี่ยงให้กับภาพรวมของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วยแม้ว่าจะมีวัคซีนและยารักษาออกมาก็ตาม เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่หลังจากเปิดประเทศไปเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และยังมีความเสี่ยงจากการที่ประเทศในยุโรปกลับมาติดเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงต้องพึ่งพาในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าคนไทยจะมีระดับการจับจ่ายในการท่องเที่ยวไม่มากเหมือนกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากมีการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ก็อาจจะช่วยประคองภาคการท่องเที่ยวของไทยให้ไปต่อได้และพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้รอดพ้นวิกฤติในครั้งนี้ หลังจากที่รับแรงกดดันจากโควิด-19 มาร่วม 2 ปี และการท่องเที่ยวในประเทศยังทำให้การบริโภคดีขึ้น มีการจ้างงาน สามารถสร้างรายได้ต่อยอดให้กับคนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ภาคการส่งออกที่ปีนี้มีการเติบโตและช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้ดี แต่มองว่าในปี 65 การส่งออกอาจจะไม่ได้ขยายตัวสูงเหมือนกับในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางการเติบโตที่ช้าลงและอาจต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2/65 ทำให้ธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาลดความร้อนแรงของขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และจะส่งผลกระทบถึงการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งจำเป็นของประเทศไทย คือจะต้องพัฒนาศักยภาพในระยะยาวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพแรงงานที่กำลังจะขาดแคลนในระยะยาว โดยข้อมูลอ้างอิงจากองค์การสหประชาชาติประเมินว่าประชาชนในวัยแรงงานของไทยในช่วงอายุ 15-64 ปี จะลดลงจาก 49 ล้านคนในปี 64 เหลือ 47 ล้านคนในปี 73 และลดลงอีกไปเป็น 42 ล้านคนในปี 83 เนื่องจากการเข้าสู่งสังคมสูงอายุ และแรงงานยังขาดความสามารถในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่โลกต้องการ

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า การลงทุนในตัวมนุษย์ (Human Capital) ถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยเสริมความสามารถให้กับประเทศในระยะยาว ซึ่งพบว่าให้ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจที่สูงกว่าการลงทุนในการสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรค่อนข้างมาก แต่ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถพัฒนาการศึกษาและการฝึกวิชาชีพให้ตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจได้ดีอย่างที่ควร

นอกจากนี้ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยที่การมีสังคมที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แม้จะเป็นของคนต่างชาติ และมีระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม และการให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนการวิจัยขั้นพื้นฐานโดยภาครัฐเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำเอาความรู้ดังกล่าวไปต่อยอดในการทำธุรกิจและสร้างกำไรเป็นสิ่งความสำคัญอย่างมากในการเสริมศักยภาพให้กับประเทศไทยในระยะยาวด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ