นักวิชาการและภาคเอกชนประสานเสียงรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ไม่มีผลช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เนื่องจากประเมินว่าจะเป็นรัฐบาลผสมที่ขาดเสถียรภาพและอายุสั้น "เศรษฐกิจไทยปี 2551 คงฝากความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้ เพราะเสถียรภาพของรัฐบาลจะอ่อนแอจากการเป็นรัฐบาลผสม และมีเวลาทำงานไม่นาน ประมาณ 1-2 ปี" นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองกรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวในงานเสวนา "เศรษฐกิจหลังเลือกตั้งจะรุ่งโรจน์หรือร่วงโรย" เมื่อสถานะของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเช่นนี้ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน และการเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมาทำได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้อัตราการขยายตัวปีหน้าไม่น่าเกินปีนี้ที่ระดับ 4.0-4.5% โดยปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การส่งออก ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสายงานเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลผสมคงเกิดความวุ่นวายในด้านเสถียรภาพ ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ราบรื่น คาดว่า ปีหน้าจะขยายตัวได้ 5.0-5.8% ซึ่งน่าจะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ อินโดนีเซีย และจีน จะขยายตัวเกินระดับ 8% อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ปัญหาค่าบาทแข็ง และเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของการบริโภคและการลงทุน เพราะหากกระตุ้นจากนโยบายประชานิยม ในระยะสั้นอาจทำได้บ้าง แต่ระยะยาวจะเอาเงินจากไหนมาอุดหนุน ขณะที่ นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลผสมไม่สามารถบริการจัดการเสถียรภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการแตกแยกในการประสานนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรค ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไร้ประสิทธิภาพ อีกทั้งรัฐบาลใหม่จะเผชิญปัญหากับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มีเงื่อนไขต่างๆ มากมาย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นปัญหาต่อการผลักดันเศรษฐกิจในปีหน้าให้เติบโตได้แค่ระดับ 4-4.5% ส่วน นายวิชัย ศรีประเสริฐ อดีตนายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลใหม่คงไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เพราะพรรคการเมืองที่มาจัดตั้งรัฐบาลจะยังคงใช้นโยบายประชานิยม ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวไม่สามารถทำได้ จึงทำได้แค่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะโตประมาณ 4-5% เท่านั้น "ทุกวันนี้คนไทยเสพติดนโยบายประชานิยมจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ เพราะถ้าดูจากประวัติศาสตร์ พบว่าประเทศไหนใช้ประชานิยมเจ๊งทุกราย ไม่ว่าจะเป็น อาร์เจนติน่า ชิลี แต่ต้องใช้กลไกตลาดเข้ามาทำงาน" นายวิชัย กล่าว นายพายัพ พยอมยนต์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจปีหน้าคาดว่าจะทรงตัว แต่จะดีกว่าปีนี้เล็กน้อย โดยอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 4% ซึ่งเป็นอัตราที่รับได้ แต่ปีหน้าราคาน้ำมันน่าจะอยู่ที่ระดับ 80-85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ค่าเงินบาทจะอยู่ระดับ 33 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการคือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และสร้างระบบพื้นฐานเพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะการจัดระบบโลจิสติกส์