(เพิ่มเติม) บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวส่งเสริมลงทุนโครงการขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 2.6 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2021 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเห็นชอบให้การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 26,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความพร้อมด้านพลังงาน พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค เช่น

  • บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เงินลงทุน 3,656.19 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles-BEV) ปีละประมาณ 6,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) ปีละประมาณ 50,000 คัน และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปีละประมาณ 65,805 ชิ้น
  • บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด เงินลงทุน 3,434.36 ล้านบาท ในโครงการท่าเทียบเรือ D2 ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อให้บริการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ปีละประมาณ 812,000 ทีอียู โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักจากประเทศญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี
  • บมจ.สหโคเจน (ชลบุรี) (SCG) เงินลงทุน 2,700 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานอื่นๆ ในระบบ COGENERATION

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนในปี 64 เป็นไปตามเป้าที่ 6 แสนล้านบาท โดยมีตัวเลขการลงทุนจริงประมาณ 4 แสนล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีลงทุนมากสุดคือ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีถึง 17%ของการลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนจริงมากสุดด้วย เพราะมีคำสั่งซื้อมากขึ้น

ส่วนคำขอส่งเสริมการลงทุนในปี 65 ทางบีโอไอยังไม่ได้กำหนดเป้าหมาย แต่ถ้าสถานเศรษฐกิจโลกดีขึ้น และการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนไม่มีผลกระทบมากนัก โดยเฉลี่ยแล้วคำขอส่งเสริมการลงทุนน่าจะไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

สำหรับปัจจัยบวกในการส่งเสริมการลงทุนในปี 65 น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก ถ้าขยายตัวได้ดีก็ส่งผลดีต่อการส่งออกด้วย รวมไปถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนให้มากขึ้น และความต้องการในอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมอาหารที่ยังมีความต้องการดีอยู่ ส่วนปัจจัยลบ คือ เรื่องแรงงานที่จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนว่าจะส่งผลต่อการเปิดประเทศหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ