ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มการลงทุนปีหน้าขยายตัวในช่วง 4.8-8.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 5, 2007 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากปัญหาวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ และปัญหาราคาน้ำมัน ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศยังคงต้องจับตาประเด็นทางการเมือง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของการลงทุนในปี 2551 ซึ่งเป็นที่คาดหวังกันว่าการลงทุนในปีข้างหน้าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
การลงทุนโดยรวมของประเทศในปี 2551 มีโอกาสขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.8-8.2 โดยการลงทุนของภาคเอกชนจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-7.4 ขณะที่การลงทุนของภาครัฐ จะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.9-10.7
จากในปี 2550 การลงทุนจะมีอัตราการขยายตัว (ณ ราคาคงที่) ประมาณร้อยละ 1.1 ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2549 โดยคาดว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะอยู่ในระดับคงที่ (ขยายตัวร้อยละ 0.0) ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ในปีก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนของภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปีก่อนหน้า
แนวโน้มการลงทุนในปี 2551 ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) คาดว่า ภายหลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งการลงทุนมีโอกาสปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ข้อสมมติในกรณีพื้นฐาน ที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2551 จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 78.9 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ในกรณีนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะยังไม่สูงนัก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังสามารถรักษาระดับที่ต่ำไปได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีพื้นฐาน
สำหรับในกรณีเลวร้ายที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นรวดเร็วในปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุน เป็นสองกรณีคือ กรณีเลวร้าย (Worse Case) คือราคาน้ำมันดิบเบรนท์สูงขึ้นมามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 88.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คาดว่าการเติบโตของการลงทุนในปี 2551 จะต่ำลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0-6.0 และกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) คือราคาสูงขึ้นมาที่ 98.9 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล คาดว่าการลงทุนอาจจะต่ำลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-4.0
ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการลงทุนภาคเอกชนที่คงจะมีการขยายตัวต่ำลงค่อนข้างมาก จากผลกระทบราคาน้ำมันที่จะมีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวภาครัฐน่าจะยังคงรักษาบทบาทที่จะเป็นแกนหลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งในภาวะที่แนวโน้มราคาน้ำมันจะยังคงสูงขึ้นน่าจะทำให้โครงการลงทุนด้านพลังงานและโลจิสติกส์ถูกกำหนดให้มีความสำคัญเร่งด่วน จึงคาดว่าการลงทุนของภาครัฐแม้จะขยายตัวต่ำลงกว่ากรณีพื้นฐานแต่ก็น่าจะเติบโตในอัตราที่สูงกว่าการลงทุนของภาคเอกชน
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยในปี 2551 นี้นับเป็นปัญหาในระยะสั้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่และจะมีผลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาว นั่นคือปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่ภาคธุรกิจเอกชนของไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันในตลาดต่างประเทศที่รุนแรงกับประเทศที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า ขณะที่การเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการจะทำธุรกิจต่างชาติรุกเข้ามาในตลาดภายในประเทศมากยิ่งขึ้น
นับจากเหตุการณ์วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จนถึงปัจจุบันนี้ เวลาผ่านไป 10 ปี แต่พัฒนาการของผู้ประกอบการไทยยังเป็นไปอย่างล่าช้า เศรษฐกิจยังคงพึ่งพาการส่งออกสูง รวมทั้งการส่งออกที่เติบโตสูงในระยะที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาศัยประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง และการลงทุนที่เข้ามาจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ท่ามกลางสภาวการณ์การแข่งขันที่รุนแรงและปัจจัยต้นทุนวัตถุดิบที่นับวันจะยิ่งปรับตัวสูงขึ้นเช่นนี้ ธุรกิจจำเป็นต้องหาแนวทางปรับตัวเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตรวมถึงความพยายามในการลดต้นทุนในองค์กรอย่างจริงจัง กระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการลงทุน เช่น การปรับระบบการผลิตโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนแรงงาน หรือการปรับผลิตภัณฑ์มุ่งตลาด Niche ซึ่งต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา
ในช่วงที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงปีข้างหน้า (และจะค่อยๆกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเศรษฐกิจกลับมาสู่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมที่ประเทศมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด) ในด้านหนึ่งนับว่าเป็นช่วงจังหวะที่ผู้ประกอบการที่ต้องมีการลงทุนขยายธุรกิจ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือการลงทุนเพื่อปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ ที่ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ จะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าที่ลดลงจากค่าเงินบาทที่แข็งเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ