กขค.มองแนวโน้มธุรกิจควบรวมเพิ่มทั้งค้าส่ง-ค้าปลีก-ขนส่งจับตาอำนาจเหนือตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 24, 2022 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กขค.มองแนวโน้มธุรกิจควบรวมเพิ่มทั้งค้าส่ง-ค้าปลีก-ขนส่งจับตาอำนาจเหนือตลาด

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยถึงผลการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ตาม ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ปี 2561-2564 ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 134 เรื่อง โดยเฉพาะในปี 2564 มีการรับเรื่องร้องเรียนสูงสุดถึง 71 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.36 เท่า กลุ่มธุรกิจที่มีการรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 40 เรื่อง รองลงมาคือธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจบริการอื่นๆ จำนวน 15 เรื่อง และธุรกิจการผลิตและการค้าส่งค้าปลีกจำนวน 16 เรื่อง

กขค.มองแนวโน้มธุรกิจควบรวมเพิ่มทั้งค้าส่ง-ค้าปลีก-ขนส่งจับตาอำนาจเหนือตลาด

โดยเมื่อจำแนกตามพฤติกรรม พบว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบจำนวน 40 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 28 เรื่อง และการตกลงร่วมกัน จำนวน 3 เรื่อง โดยได้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 3 เรื่อง ผู้ต้องหาจำนวน 28 ราย อยู่ระหว่างส่งฟ้องอัยการ จำนวน 2 ราย และผู้ต้องหาขอเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายจำนวน 26 ราย ในส่วนของคดีปกครองมีการลงโทษทางปกครองจำนวน 11 เรื่อง ผู้กระทำความผิด จำนวน 16 ราย มีค่าปรับรวมประมาณ 34 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปี 2564 เป็นปีที่มีการรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 32 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2 เท่า และมีมูลค่าการรวมธุรกิจประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3.4 เท่า

กขค.มองแนวโน้มธุรกิจควบรวมเพิ่มทั้งค้าส่ง-ค้าปลีก-ขนส่งจับตาอำนาจเหนือตลาด
"การทำหน้าที่ของเรา พยายามทำหน้าที่เพื่อลบคำปรามาสที่บอกว่าการมีกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือมีกฎหมายแข่งขันทางการค้า ไม่ได้ช่วยอะไร แต่ข้อพิสูจน์ คือ การดำเนินคดีต่างๆ ที่ขณะนี้เราตัดสินสิ้นสุดแล้ว 14 เรื่อง ทั้งคดีอาญา คดีปกครอง ทั้งลงโทษปรับ รวมทั้งส่งต่อไปอัยการ เราได้เร่งรัดการทำงาน พยายามดูแลกฎกติกา การกระทำความผิดภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มข้น แต่ปณิธานของเราไม่ใช่จำนวนคดี จำนวนค่าปรับ สิ่งสำคัญคือการวางรากฐานของการกำกับดูแลกฎกติกาการแข่งขันทางการค้าที่ควรจะเป็น" นายสกนธ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า สิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดคิดมาก่อน คือการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด จะเห็นได้จากจำนวนการยื่นเรื่องให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจ และการแจ้งเรื่องการควบรวมธุรกิจ ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 24 เรื่อง สิ่งสำคัญคือ มูลค่าการรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นในไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของขนาดเศรษฐกิจรวมของประเทศ

แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ การกำกับดูแลการขอควบรวมธุรกิจในขณะนี้ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจบริการ ทั้งค้าส่ง ค้าปลีก และการขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนถึงกว่า 30% ซึ่งภาคธุรกิจที่ขอให้พิจารณาควบรวมธุรกิจดังกล่าวนี้ มีประเด็นที่จะต้องเฝ้าระวัง และกำกับดูแลต่อไป เพราะที่ยื่นขออนุญาตเข้ามากว่า 40 เรื่องนี้ มีความน่ากังวลที่จะเข้าข่ายการมีอำนาจเหนือตลาด

นายสกนธ์ กล่าวว่า ในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญ (Megatrends) อย่างรวดเร็ว และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประกอบธุรกิจ ทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) เพิ่มมากขึ้น และจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการค้าเพื่อแข่งขันกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจมีแนวโน้มจะควบรวมธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อปรับตัวให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถอยู่รอดได้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีการใช้อำนาจเหนือตลาด หรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จึงได้กำหนดนโยบายและทิศทางการกำกับการแข่งขันทางการค้า ปี 2565 ดังนี้

1) การกำกับดูแลการแข่งขันในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) ทุกรูปแบบ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้บริโภคไม่นิยมใช้เงินสด โดยในปี 2564 มีมูลค่าทางธุรกิจมากถึง 4 ล้านล้านบาท อาทิ การจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (E-Market Place) การขนส่งสินค้า (E-Logistic) การให้บริการรับสั่งและจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และธุรกิจจองโรงแรมที่พัก (OTA) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ

2) การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ (M&A) โดยเฉพาะการควบรวมธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

3) การส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สามารถแข่งขันได้มากขึ้น

นายสกนธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จะมีการพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และแนวปฏิบัติทางการค้าและกฎระเบียบต่างๆ และเสริมสร้างความร่วมมือในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้ากับหน่วยงานต่างประเทศ

รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเป็นเครื่องมือศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก (Business Intelligence Unit) เพื่อให้การแข่งขันทางการค้าไทยมีแนวทางการพัฒนาที่ดีขึ้น รวมทั้งการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า

"รูปแบบการขยายการทำธุรกรรม ที่อาจขัดต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้าอาจจะมีมากขึ้น มีทั้งการรวมธุรกิจภายในประเทศเอง และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการรวมธุรกิจในแวดวงของเทคโนโลยี ที่วันนี้ แม้มูลค่าธุรกิจอาจจะยังไม่มาก แต่การรวมธุรกิจที่นำไปสู่การมีอำนาจเหนือตลาดในเชิงการจัดการ ในเชิงเทคโนโลยีต่างๆ เป็นประเด็นที่เราต้องวางกฎกติกา วางแนวทางในการดูแลเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนมากขึ้น" นายสกนธ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ