(เพิ่มเติม) ICHI เป้ายอดขายปี 65 โตแตะ 6.5 พันลบ.ประคองต้นทุนพยุงกำไร,Predictive เล็งเข้าตลาดหุ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 10, 2022 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ICHI เป้ายอดขายปี 65 โตแตะ 6.5 พันลบ.ประคองต้นทุนพยุงกำไร,Predictive เล็งเข้าตลาดหุ้น

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายปี 65 เติบโต 24% จากปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มตลาดชาพร้อมดื่มทั้งในและต่างประเทศยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ว่าจะยังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ตาม แต่สินค้าชาเขียวเป็นตลาดเครื่องดื่มชนิดเดียวที่มีการเติบโตในปีที่ผ่านมา และในช่วงเดือน ม.ค.65 ยังเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหนุนให้กับยอดขายของบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ

สำหรับตลาดในประเทศไทย ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนที่ยอดขายในประเทศเป็นตัวหลักที่เข้ามาหนุนผลการดำเนินงาน โดยบริษัทยังคงเดินหน้าทำการตลาดเพื่อผลักดันยอดขาย และยังเห็นการเติบโตได้ดี ซึ่งในเดือน ม.ค.65 ตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศเติบโตสูงถึง 28% เป็นปัจจัยบวกต่อยอดขายชาเขียว และภาพรวมยอดขายในไตรมาส 1/65 ที่คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทตั้งเป้าเฉพาะยอดขายชาเขียวในประเทศในปีนี้ที่ 5 พันล้านบาท

"การเติบโตของยอดขายในประเทศมาจากร้านค้าโชห่วยมาก จากการที่รัฐบาลมีการอัดเงินให้กับประชาชนไปซื้อของตามร้านค้าโชห่วย และการที่คนอยู่บ้านทำให้มีการซื้อของร้านค้าใกล้บ้าน ทำให้ยอดขายที่เติบโตมาจากร้านค้าโชว์ห่วยมาก และเป็นช่องทางที่เรามีกำไรมากกว่าการขายในโมเดิร์นเทรด"นายตัน กล่าว

นอกจากนั้น บริษัทยังคงผลักดันกลุ่มสินค้า Non-tea ในปีนี้ จากการกลับมาทำตลาดอีกครั้งของเครื่องดื่ม "ไบเล่" ที่กลับมาทำตลาดในราคาขวดละ 10 บาท โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขาย "ไบเล่" ราว 100 ล้านบาทในปีนี้ และจะมีเครื่องดื่มใหม่ที่ทยอยออกมาเพิ่มเติม เช่น ชาไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา ตั้งเป้ายอดขายไว้ 135 ล้านบาท และเครื่องดื่มผสมกัญชง คาดว่าจะเปิดตัวในเดือนมิ.ย.65 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 200 ล้านบาท

ด้านธุรกิจ OEM จ่อเซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ราย โดยจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงปลายไตรมาส 2/65 จากปัจจุบันมีลูกค้าหลักอยู่ 2 ราย คือ บริษัท ไทยโคโคนัท และ คิง พาวเวอร์ สนับสนุนให้อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) มากขึ้น และทำให้บริษัทจะมีรายได้จาก OEM เข้ามาในปีนี้ราว 150 ล้านบาท

ส่วนตลาดอินโดนีเซีย ในช่วงต้นปีนี้เติบโตขึ้นค่อนข้างมากจนยอดขายสินค้าของ ICHI สามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ (New high) ได้ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา และยังมีโอกาสในการขยายตลาดอีกมาก โดยเฉพาะช่องทางร้านค้าทั่วไป (TT) ที่บริษัทจะเจาะตลาดให้มากขึ้น และจะเพิ่มสินค้าเครื่องดื่มใหม่เข้าไปจำหน่ายอีกหลายรายการในปีนี้

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายในอินโดนีเซียปีนี้ไว้ที่ 1.82 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนที่ 1.4 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทรับรู้กำไรเข้ามาจากกิจการร่วมทุนประมาณ 75 ล้านบาทในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 55 ล้านบาทในปีก่อน

"การดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีผลขาดทุนมาตลอด และบริษัทยังใช้ฐานการผลิตจากผู้ผลิตท้องถิ่นในการผลิตขายในประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีโรงงานที่รับจ้างผลิตเครื่องดื่มให้กับบริษัท 2 ไลน์การผลิตหลัก และบริษัทจะมีการขยายตลาดส่งออกไปยังฟิลิปปินส์และบรูไนเพิ่มเติมในปีนี้"นายตัน กล่าว

นายตัน กล่าวอีกว่า บริษัทยังจะไม่รีบตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศอินโดนีเซีย แม้ว่าจะมีที่ดินเตรียมพร้อมรองรับการก่อสร้างโรงงานอยู่แล้วก็ตาม และยอดขายในอินโดนีเซียจะแตะ 1 พันล้านบาทตามเป้าหมาย แต่ขณะนี้โรงงานที่รับจ้างผลิตเครื่องดื่มให้กับบริษัทยังมีกำลังการผลิตเพียงพอ ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นในการลงทุนก่อสร้างโรงงานเอง ดังนั้น บริษัทจึงได้ขยับเพิ่มเป้าหมายยอดขายเป็น 2.5 พันล้านบาทก่อนจะลงทุนสร้างโรงงาน

ด้านต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปตามสัญญาของบริษัทขนส่งที่บริษัทใช้บริการ โดยบริษัททำสัญญากับผู้ให้บริการขนส่งทุกๆ 6 เดือน และปัจจุบันต้นทุนการขนส่งในสัญญาใหม่เพิ่มขึ้น บริษัทจึงได้ปรับเพิ่มราคาขายส่งกับร้านค้า 2 บาท/ลัง ซึ่งกระทบต่อกำไรของร้านค้าที่ซื้อสินค้าของบริษัทเล็กน้อยราว 1 บาท แต่ยืนยันว่าไม่กระทบต่อราคาขายปลีกที่ขายให้กับลูกค้า

หากราคาน้ำมันยังยืนอยู่ในระดับสูงและยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัทมองว่าอาจจะกระทบต่อกำไรในปีนี้ที่อาจจะทำได้แค่ใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่ายอดขายจะเติบโตขึ้น แต่ปัจจุบันต้นทุนการขนส่งเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มจะกลับมาดีขึ้น หลังจากมีสัญญาณที่ดีในเรื่องราคาน้ำมันที่ลดลงมาบ้างจากโอกาสในการเจรจายุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

ส่วนงบการตลาดในปี 65 บริษัทวางไว้ที่ 5.5% ของยอดขาย ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ใช้ไป 5.3% โดยในปีนี้จะไม่ได้ทำแคมเปญใหญ่ในช่วงซัมเมอร์เหมือนกับปีที่แล้ว เพราะบริษัทจำเป็นต้องควบคุมต้นทุนการตลาดหลังจากทางการได้เก็บสรรพสามิตความหวาน ซึ่งสอดคล้องกับการทำการตลาดของผู้ประกอบการชาพร้อมดื่มในตลาดที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้บริษัทยังสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ และหันมาใช้การทำการตลาดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

นายตัน ยังกล่าวถึงการเข้าไปถือหุ้นในบริษัท พรีดิกทิฟ จำกัด (Predictive) ในสัดส่วน 25% ว่า เพื่อเป็นการรองรับการทำการตลาดยุคดิจิทัล โดยนำ Big Data มาใช้เป็นหัวใจขับเคลื่อนการตลาดเชิงวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค โดย Predictive มีความเชี่ยวชาญด้าน Data Tech มีผลการดำเนินงานที่ดี การเติบโตเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 62-64) ราว 30% และมีผลงานการให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย และเป็นการต่อยอดโอกาสใหม่ด้วยการสร้าง Data Solution ตอบสนองเทรนด์ดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างมีอนาคต ซึ่งอีกทั้งบริษัทีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 67


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ