ครม.ไฟเขียว สกพอ.ใช้ที่ดินส.ป.ก.ในจ.ชลบุรีพัฒนาศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 22, 2022 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่ ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มาตรา 36 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยความเห็นชอบของ ครม. มีอำนาจให้ สกพอ. เข้าใช้ประโยชน์ของ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้

พร้อมกันนี้ ครม. ได้รับทราบมติ กพอ. ที่ได้อนุมัติร่างระเบียบ สกพอ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายค่าชดเชย ให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ สกพอ. เข้าใช้ประโยชน์ พ.ศ.... เพื่อให้ สกพอ. และ ส.ป.ก. ดำเนินจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. ต่อไป

นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบมติ กพอ. ที่เห็นชอบให้ สกพอ. ขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 15,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 4,000 ล้านบาท รวม 19,000 ล้านบาท โดยแยกเป็นค่าชดเชยที่ดิน 10,000 ล้านบาท โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบขั้นรายละเอียด และจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) 1,000 ล้านบาท โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 200 ล้านบาท และโครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง 7,800 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาค มาตรฐานเทียบเท่าสากลในพื้นที่ EEC และให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580 เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศไทย โครงการมีที่ตั้งที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ โดยจะพัฒนาระยะแรกประมาณ 5,000 ไร่ โครงการมีที่ตั้งห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กม. มีระยะการพัฒนา 10 ปี ระหว่างปี 2565-2575

ทั้งนี้ สกพอ. ประเมินว่าโครงการนี้จะสร้างงาน 200,000 ตำแหน่ง ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,340,468 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนการลงทุนของรัฐ 2.8% หรือ 37,674 ล้านบาท เป็นส่วนของค่าที่ดิน ปรับพื้นที่เมืองโครงสร้างพื้นฐานในเมือง และนอกเมือง ส่วนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) 9.7% หรือประมาณ 131,119 ล้านบาท เป็นค่าสาธารณูปโภคในระบบขนส่งธารณะ ระบบดิจิทัล และเอกชนลงทุน 87.5% หรือประมาณ 1,180,808 ล้านบาท สำหรับพื้นที่พาณิชย์

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามแผนแม่บทพัฒนาโครงการ จะแบ่งโซนตามธุรกิจเป้าหมายเป็น 5 โซน ประกอบด้วย 1. ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน สนับสนุนการลงทุน Fintech และ Green Bond 2. สำนักงานภูมิภาค RHQ/ศูนย์ราชการ เช่น สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทย ที่มีธุรกิจในอีอีซี และสถานที่ราชการที่สำคัญ

3. การแพทย์แม่นยำ/การแพทย์เพื่ออนาคต เพื่อเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย 4. การศึกษา วิจัย และพัฒนา เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้าน การวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน และ 5. ธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจ Digitization และ 5G กลุ่มโลจิสติกส์และวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ