ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเม.ย.ปรับลงต่อเนื่องกังวลภาวะศก.หลังค่าครองชีพ-น้ำมันสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 10, 2022 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 40.7 ลดลงจากเดือน มี.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 34.6, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 38.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 49.6

สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่

  • ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ
  • ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  • ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง
  • ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 มาที่ 3.5% จากเดิมคาด 4.0%
  • ตลาดหุ้นไทย เดือนเม.ย.ปรับตัวลดลง 27.80 จุด
  • เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 33.252 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 65 เป็น 33.821 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนเม.ย. 65 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่

  • ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเลิก Test&Go ปรับมาใช้การลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass ซึ่งจะเป็นผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวของไทย
  • การฉีดวัคซีนของทั่วโลกทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและคลายความวิตกกังวล รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • การส่งออก-นำเข้าของไทยเดือน มี.ค.65 ขยายตัวต่อเนื่อง
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

นายธนวรรธน์ ระบุว่า สัญญาณความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่ค่อยดีนัก และยังไม่เห็นแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่วนปัญหาการระบาดของโอมิครอนแม้จะยังคงมีอยู่แต่ก็เริ่มคลี่คลายแล้ว

"เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง และยังไม่มีภาพการฟื้นตัว มองว่าเศรษฐกิจยังซึมตัว" นายธนวรรธน์ ระบุ

พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลทำโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ในเดือนมิ.ย.นี้เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ และช่วยเสริมกำลังซื้อให้แก่ประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ