(เพิ่มเติม) คณิศ เผย 4 ปี EEC ดึงเม็ดเงินลงทุน 1.9 ล้านลบ.ขับเคลื่อนศก.สูงกว่าเป้าหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 25, 2022 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวในงานเสวนา "4 ปี EEC ภารกิจขับเคลื่อนไทย เชื่อมทุกมิติ อย่างยั่งยืน" ว่า ถึงแม้ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่การดำเนินโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้ามากกว่าตามแผนงานระยะที่ 1 ซึ่งกำหนดไว้ 5 ปี แต่สามารถดำเนินการได้ภายใน 4 ปี โดยใช้งบประมาณภาครัฐเพียง 9.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของมูลค่าทั้งหมด สามารถดึงการลงทุนภาคเอกชนได้มากถึง 1.9 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1.7 ล้านล้านบาท

ความก้าวหน้าต่อไปตามแผนลงทุนระยะที่ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (65-69) ขับเคลื่อนต่อยอด เร่งรัดการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง วิจัยพัฒนาเพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทย วงเงินลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท เน้นที่การดึงดูด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 4 แกนธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า EV ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ และโลจิสติกส์ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 ล้านบาท/ปี (จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) เป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปี ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 สร้างความมั่นใจนักลงทุนต่อเนื่อง พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนา และคนไทยมีรายได้สูงขึ้นได้ในปี 72

"ถึงแม้จะมีแผนงานที่ดี โครงการที่ดี งบประมาณที่ดี แต่หากคนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาก็จะไม่ประสบความสำเร็จ" นายคณิศ กล่าว

สำหรับการลงทุนในโครงการ EEC จะมีการเลือกสรรอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญทั้ง 4 อย่าง ได้แก่ รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) , ท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือมาบตาพุด, สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เกิดการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชนสูงถึง 655,821 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐลงทุนเพียง 36% แต่รัฐจะได้รับผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 440,193 ล้านบาท ทำให้ประเทศก้าวสู่การพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาทุนจากต่างประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ประหยัดเงินงบประมาณของรัฐ เกิดความร่วมมือภาคเอกชนไทย เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพ ให้คนไทยมีรายได้ดีมั่งคงยั่งยืน โดยการลงทุนรูปแบบ PPP ยังได้สร้างต้นแบบ โปร่งใสรัดกุม ตรวจสอบได้ ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด

โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ จะส่งมอบพื้นที่จนครบ 100% และเอกชนได้เข้าลงทุนตามแผน เช่น งานปรับพื้นที่ งานสร้างถนนและสะพานชั่วคราว งานก่อสร้างโรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง และก่อสร้างต่อเนื่องใช้เวลา 4 ปี โดยส่วนเชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 69

          โครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ส่วนภาครัฐ งานปรับถมดินลานจอดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้วเสร็จสมบูรณ์ งานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 ก้าวหน้า 85% และเอกชนคู่สัญญาได้เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและเตรียมการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 68           โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดได้เริ่มต้นการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ตั้งแต่เดือน ธ.ค.64

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานทางทะเล และการจัดทำ EHIA สำหรับท่าเทียบเรือ F

"ทั้ง 4 โครงการหลัก อีอีซีขอยืนยันว่าจะร่วมมือกับเอกชนอย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย เดินหน้าก่อสร้างให้สำเร็จได้ตามแผน ประโยชน์สูงสุดให้คนไทยทุกคน โดยทุกโครงการมีเป้าหมายเสร็จเรียบร้อยภายในปี 68 และเปิดให้บริการในปี 69" นายโชคชัย กล่าว

สำหรับแนวทางการลงทุนในอนาคตบางอุตสาหกรรมอาจมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นคลัสเตอร์ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมเดียว โดยการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ประมาณการจากบัตรส่งเสริมลงทุนบีโอไอ) มูลค่า 985,799 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการออกบัตรฯ อุตสาหกรรมเกษตร การแพทย์ ท่องเที่ยว และการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการแพทย์มีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 517% ทั้งนี้ 5 ลำดับประเทศที่ลงทุนสูงในพื้นที่ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และสวิตเซอร์แลนด์

น.ส.นงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ กล่าวว่า มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการให้ก้าวหน้าต่อไปท่ามกลางวิกฤต ได้แก่ ภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในเรื่องภูมิศาสตร์เพราะตั้งอยู่จุดกลางภูมิภาค ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างมุ่งที่จะพัฒนาตัวเองให้ก้าวข้ามปัญหากับดักรายได้ทานกลาง นอกจากนี้ไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และมีความสามารถในการเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันได้มีการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจนักลงทุนต่างชาติใหม่ ซึ่งไม่ใช่มาตรการเดิมๆ เช่น การยกเว้นภาษี แต่ยังมีจุดอ่อนที่เสียเปรียบเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามที่มีการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (อียู) แล้ว

"แนวโน้มการลงทุนในพื้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถพลังงานไฟฟ้า การแปรรูปพลาสติกเป็นน้ำมัน" น.ส.นงนุช กล่าว

นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี กล่าวว่า การใช้ 5G ในพื้นที่อีอีซีได้ติดตั้งสัญญาณครบ 100% ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการใช้ 5G อย่างกว้างขวาง โดยต่อยอดพัฒนาในภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาในระดับชุมชน และด้านการจัดการข้อมูลเพื่อต่อยอดธุรกิจ ทั้งนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ผลักดันให้ชุมชนบ้านฉางก้าวสู่ smart city เกิดศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง

ความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยี 5G ช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านข้อมูล ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน เม็ดเงินที่ลงทุนเรื่องนี้ไป 2 แสนล้านบาทจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับมา 10 เท่า แม้ที่ผ่านมาเรามีจุดอ่อนที่ไม่มีนักเทคโนโลยีต้นน้ำ แต่ขณะนี้พบว่าเรามีคนที่สามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดได้ดี ทำให้การพัฒนาอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน

"ผมไปพบชาวนาที่สามารถใช้งานโดรนได้ดี โดยเขาบอกว่าเรียนรู้จากการดูยูทูป" นายชิต กล่าว

ความก้าวหน้าต่อไปจะเร่งผลักดันให้โรงงานในพื้นที่ EEC เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม 4.0 เกิดการใช้ระบบหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่นอย่างแพร่หลาย คาดว่าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้กว่า 30% โดยปัจจุบันได้เริ่มทำแล้วกว่า 40 โรงงาน และจะเพิ่มเป็น 200 โรงงาน (ขนาดใหญ่ 20% ขนาดกลาง 30% SME 50%) ภายในปีนี้ และภายในปี 68 โรงงานกว่า 6,000 แห่งใน EEC จะก้าวสู่โรงงานอัจริยะ รวมทั้งการเร่งสร้างบุคลากรเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง โดยร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น หัวเว่ย ซิสโก้ เป็นต้น ซึ่งได้ตั้งเป้าภายใน 4 ปี จะสามารถพัฒนาทักษะบุคลากรใน EEC (New Skill, Up-Skill, Re-Skill) ในด้าน 5G, ดิจิทัล, Network ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน

นายธัชพล กาญจนกุล รองเลขาธิการฯ สกพอ. สายงานพื้นที่และชุมชน กล่าวว่า สำหรับพื้นที่อีอีซี 8 ล้านไร่ ที่มีคนอยู่ราว 3 ล้านคน จะมีการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีรายได้ดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี โดยมีการจัดทำแผนงานที่บูรณาการการทำงานจากทุกหน่วยงาน เช่น การพัฒนาตลาด การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจผลไม้ การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน

"ได้เดินหน้าพัฒนาด้านสังคมผ่านแนวคิด 5 สร้าง ได้แก่ สร้างอาชีพ สร้างความรู้ สร้างรัฐสวัสดิการ สร้างเครือข่าย และสร้างการเข้าถึงสถาบันการเงิน" นายธัชพล กล่าว

ความก้าวหน้าต่อไป จะยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเมืองที่ทันสมัยรวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายให้จำนวนรายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจชุมชน (GDP) เพิ่มขึ้นมากว่า 20% วิสาหกิจ ธุรกิจชุมชน มีโอกาสเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ในอนาคต เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ