(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เม.ย. ขยายตัว 0.56%YoY, 4 เดือนโต 1.37%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 30, 2022 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 91.79 ขยายตัว 0.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 1.37%

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 58.91% ลดลงจาก 69.33% ในเดือน มี.ค. 65 ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 64.63%

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิต เดือนเม.ย. 65 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศและหลายประเทศทั่วโลก เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลาย มีการเปิดประเทศ ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมยังขยายตัว 12.53% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก (เดือน เม.ย. 65 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 3.08% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 65) ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) เดือนเม.ย. ขยายตัว 4.98%

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนเม.ย. 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

  • ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.82% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุก ปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก โดยขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและประเทศคู่ค้า รวมถึงราคาพืชผลเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น
  • น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.53% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้การขนส่งเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น ประชาชนสามารถการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้
  • ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.41% จากผลิตภัณฑ์ยางแท่งเป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของแรงงานในปีก่อน ส่งผลให้มีการผลิตได้เป็นจำนวนน้อย ประกอบกับในปีนี้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัว จึงมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
  • เครื่องประดับ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.95% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และทยอยเปิดเมือง ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวและบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น
  • ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.22% จากผลิตภัณฑ์ PCBA และ IC เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
"สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว ความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น จากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ด้านปัจจัยต่างประเทศยังคงส่งสัญญาณปกติ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังเติบโตได้" นายทองชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครน ได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ขณะเดียวกัน ในภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อ เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ขยายตัวที่ 11.4% เร่งตัวขึ้นจากเดือนมี.ค. ขยายตัวที่ 10.4%

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตเดือน พ.ค. 65 สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงหลังสงกรานต์ของไทยมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น รวมถึงนโยบายเปิดประเทศ จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่การทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของนานาประเทศ จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย

ส่วนความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย อาจจะเป็นอุปสรรคที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะปรับตัวสูงขึ้น เป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งจะกระทบการค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ ห่วงโซ่การผลิตอาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบ ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลัก ซึ่งผลกระทบนี้จะเป็นตัวจำกัดแรงขับเคลื่อนที่มาจากฝั่งการส่งออก

นอกจากนี้ นโยบายปิดเมืองของจีนเพื่อควบคุมโควิด-19 อาจส่งผลให้การขนส่งสินค้ามีความล่าช้า รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ในตลาดโลก

นายทองชัย คาดการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย ในเดือนมิ.ย.-ก.ค. 65 ว่า ยังส่งสัญญาณปกติต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยภายในประเทศ คือ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวดีขึ้น และดัชนีการผลิตและภาวะธุรกิจของไทยขยายตัวต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นของภาคการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยต่างประเทศ คือ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ ได้แก่ ญี่ปุ่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และยูโรโซน ขณะที่สหรัฐฯ ยังมีความกังวลต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนวัตถุดิบผลิตสินค้า ส่วนจีนกังวลต่อมาตรการ Zero-Covid

ทั้งนี้ มีปัจจัยที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้น ภายหลังภาครัฐลดการอุดหนุนราคา กระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง, ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี และนโยบาย Zero-Covid ของจีน อาจส่งผลให้การขนส่งล่าช้า รวมถึงเกิดการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ