รัฐบาล ยันยังไม่เดินหน้าโครงการจะนะ จนกว่ารู้ผลประเมิน SEA

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2022 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชนบางกลุ่มต่อเรื่องแนวทางการพัฒนา อ.จะนะ จ.สงขลา และมีการส่งต่อข้อมูลจนเกิดความเข้าใจผิดอยู่ในเวลานี้ว่า รัฐบาล โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักงานสภาพัฒน์ฯ จะไม่ปล่อยให้มีการดำเนินโครงการใด ๆ ก่อนที่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 14 ธ.ค.64 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปดำเนินการการประเมินผลกระทบ SEA สอดรับที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเสนอให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบฯ ดังกล่าว ขณะนี้ การกำหนดขอบเขตในการรับฟังความคิดเห็นได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการจัดจ้างสถาบันการศึกษาเพื่อจัดทำ SEA ต่อไปโดยเร็ว ซึ่งจะไม่มีการดำเนินโครงการใด ๆ ก่อนจะได้รับทราบผลการประเมินอย่างแน่นอน

ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลรับทราบถึงข้อห่วงใยของประชาชน และพร้อมที่จะดำเนิการให้เกิดความกระจ่างเพื่อนำไปสู่ความสบายใจของทุกฝ่าย ตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและศักยภาพของพื้นที่ จากโครงการเมืองต้นแบบที่ดำเนินการไปแล้ว คือ อ.เบตง จ.ยะลา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และอ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และคาดหวังจะขยายผลไปยัง อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองที่สี่ต่อไป หากผลการศึกษาฯ เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่โดยทั่วกัน

สำหรับข้อกังวลต่อโครงการที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการต่อระหว่างนี้ ศอ.บต.ยืนยันว่าไม่ใช่โครงการก่อสร้างแต่อย่างใด แต่เป็นโครงการรายงานการศึกษาที่อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น รายงานการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ รายงานการศึกษาธรรมนูญชุมชน รวมถึงการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดมีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ กล่าวคือ แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เป็นแกนกลางของการศึกษาเรื่องอื่น ๆ หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จะส่งผลให้ SEA ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เช่นกัน ทั้ง 2 เรื่อง จึงต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาสอดรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ขณะที่การศึกษาธรรมนูญชุมชน โดยสถาบันการศึกษาที่เป็นกลางและเข้าใจกระบวนการสันติวิธี จะใช้เป็นข้อตกลงกลางระหว่างประชาชนที่เสนอความต้องการและส่วนราชการที่ต้องดำเนินการตามข้อเสนอ เช่น ทุนการศึกษา การสร้างอาชีพให้กับประชาชน การเตรียมพร้อมด้านการเกษตรและประมง การให้ความช่วยเหลือเยียวยาประมงพื้นบ้าน เป็นต้น

"ขอให้ทุกฝ่ายรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้าง รัฐบาลตระหนักถึงความแตกต่างทางความคิดของทุกฝ่าย และยืนยันให้มีการศึกษาอย่างรอบคอบโดยหน่วยงานที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี บนพื้นฐานการทำงานที่ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เป็นของกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น" น.ส.รัชดา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ