บสย.สานต่อช่วย SME เล็งเสนอคลังอนุมัติโครงการ PGS10 วงเงิน 1 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 5, 2022 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บสย.สานต่อช่วย SME เล็งเสนอคลังอนุมัติโครงการ PGS10 วงเงิน 1 แสนลบ.

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ บสย. พิจารณาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS10 วงเงิน 1 แสนล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้ จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องจากโครงการ PGS9 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในปัจจุบัน

"ยังมีเวลาในการพิจารณาโครงการ PGS10 อีกประมาณ 4-5 เดือน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง" กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.ระบุ

ทั้งนี้ สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 วงเงินรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาทนั้น ได้เดินหน้าค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังมีวงเงินอีก 2.3 หมื่นล้านบาท ที่จะสามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากกว่า 7 พันราย เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท

พร้อมกันนี้ จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขออนุมัติเดินหน้าโครงการค้ำประกัน Micro Entrepreneur 5 วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าวงเงินดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มเปราะบางได้ราว 2.5 แสนราย ขณะที่โครงการค้ำประกัน Micro Entrepreneur 4 วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้กว่า 2.2 แสนราย โดยในส่วนนี้เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มเปราะบาง 1.7 แสนราย

นายสิทธิกร ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของ บสย. ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่า มียอดค้ำประกันอยู่ที่ 9.2 หมื่นล้านบาท โดยเป้าหมายการค้ำประกันในปีนี้ อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท และมียอดการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) อยู่ที่ 7.06 หมื่นฉบับ คิดเป็นลูกค้ากว่า 6.8 หมื่นราย

"ยอมรับว่าภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้ ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา โดยพบว่าส่วนใหญ่มียอดขายน้อยลง จากปัจจัยเสี่ยงทั้งจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน สถานการณ์ค่าครองชีพ และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก ได้ปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่กดดัน" นายสิทธิกร ระบุ

ขณะเดียวกัน บสย.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า รวมถึงจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี (บสย. F.A. Center) ซึ่งพบว่าตั้งแต่ปี 2563 ศูนย์ดงกล่าว มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาขอคำปรึกษากว่า 1.2 หมื่นราย คิดเป็นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้ได้รับการช่วยเหลือเรียบร้อยแล้วประมาณ 2 พันราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ