(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย. ฟื้นขึ้นจากพ.ค. หลังผ่อนคลายเปิดประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2022 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย. ฟื้นขึ้นจากพ.ค. หลังผ่อนคลายเปิดประเทศ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิ.ย.65 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.6 จากเดือนพ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 40.2

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 35.7 จาก 34.3 ในเดือนพ.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 39.2 จาก 37.8 ในเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 49.8 จาก 48.5 ในเดือนพ.ค.

สำหรับปัจจัยบวกที่หนุนดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทั้งโลกเพิ่มขึ้นเป็นรูปธรรม, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, กนง. ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 เป็น 3.3% จากเดิม 3.2%, การส่งออกในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 10.47% และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น

(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย. ฟื้นขึ้นจากพ.ค. หลังผ่อนคลายเปิดประเทศ

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังกังวลการระบาดของไวรัสโควิด, ปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าแพง, ความกังวลเรื่องผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า และค่าเงินบาทอ่อนค่า

นางอุมากมล สุนทรรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. 65 ที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพ.ค. เป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ต้นปี 65 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถอยลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงครามรัสเซียยูเครน

"ต้องติดตามว่า จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อย และยาวนานเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-3.5% ในปีนี้" นางอุมากมล ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากความเชื่อมั่นยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคสินค้าและบริการอย่างโดดเด่นขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ปีนี้เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ