กนอ.คาดแผนจัดตั้งนิคมฯทรัพย์สาครแล้วเสร็จภายใน 3-5 ปี ก่อนดันเข้าตลาดหุ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 17, 2022 10:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กลุ่าวถึงความคืบโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร จังหวัดสมุทรสาคร ว่า โครงการนี้จัดตั้งขึ้นตามแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อส่งเสริมแรงงานราชทัณฑ์ที่พัฒนาฝีมือแรงงานแล้วให้กลับสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ มีงานทำ เป็นลักษณะนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานระหว่างกรมราชทัณฑ์กับ กนอ. ในการสร้างเมืองใหม่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ใกล้เคียง และทำให้แรงงานราชทัณฑ์มีงานทำไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก

โดย กนอ.ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีบริษัท ศิวาชัย จำกัด ยื่นความประสงค์ขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครในจังหวัดสมุทรสาครตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกอบการจัดตั้งนิคมฯ อาทิ เอกสารด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน การออกแบบระบบสาธารณูปโภคโครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงิน แนวคิด รูปแบบการพัฒนาโครงการในรายละเอียด เป็นต้น เพื่อส่งให้ กนอ.พิจารณาเสนอขออนุมัติในหลักการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม

"การพัฒนานิคมฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3-5 ปี และหากเป็นไปได้จากการหารือกับผู้พัฒนานิคมฯ มีแนวทางที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถระดมเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจของบริษัทได้ รวมทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่น สร้างความน่าชื่อถือแก่ลูกค้า คู่ค้า และสถาบันการเงิน การเพิ่มโอกาสทางการค้า การเข้าถึงพันธมิตร และการต่อยอดธุรกิจในอนาคตด้วย" นายวีริศ กล่าว

นิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 4,132 ไร่ ริมถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 47.5 พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ห่างจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฝั่งตะวันตก 30 นาที และห่างจากตัวเมืองสมุทรสาคร 15 นาที โดยโครงการฯ มุ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ ด้วยศักยภาพพื้นที่ที่ติดกับทางรถไฟสายสมุทรสาคร-สมุทรสงคราม ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นสถานีขนส่งสินค้าที่สร้างความสะดวกในการขนส่งสินค้าในอนาคต นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ติดกับชายทะเลยาวกว่า 1 กิโลเมตร มีศักยภาพในการพัฒนาสู่ท่าเทียบเรือชายฝั่งตะวันตก เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าทางน้ำ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตและดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ