(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผย มิ.ย.ส่งออกโต 11.9% นำเข้าพุ่ง 24.48% ขาดดุลฯ 1.5 พันล้านเหรียญ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 27, 2022 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผย มิ.ย.ส่งออกโต 11.9% นำเข้าพุ่ง 24.48% ขาดดุลฯ 1.5 พันล้านเหรียญ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย.65 มีมูลค่า 26,553.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 907,286 ล้านบาท ขยายตัว 11.9% จากเดือน มิ.ย. 64 จากตลาดคาดว่าจะขยายตัว 10.5% และเพิ่มขึ้น 4.09% จากเดือน พ.ค. 65

ทั้งนี้ เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของการส่งออกในเดือน มิ.ย. นี้ ขณะที่ผลการส่งออก 6 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 12.7% มูลค่า 4,945,248 ล้านบาท

(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผย มิ.ย.ส่งออกโต 11.9% นำเข้าพุ่ง 24.48% ขาดดุลฯ 1.5 พันล้านเหรียญ

ส่วนการนำเข้าในเดือน มิ.ย.65 มีมูลค่า 28,082.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.48% จากเดือน มิ.ย. 64 และเพิ่มขึ้น 2.55% จากเดือนพ.ค.65 ทำให้การนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 20.96% มาที่มูลค่า 155,440.65 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ในเดือน มิ.ย.65 ขาดดุลการค้า 1,529.28 ล้านเหรียญสหรัฐ พลิกจากเดือน มิ.ย. 64 ที่เกินดุลการค้า 1,180.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุลการค้า 6,255.83 ล้านเหรียญสหรัฐ จากช่วงเดียวกันของปี 64 ที่เกินดุลการค้ามูลค่า 3,847.08 ล้านเหรียญสหรัฐ

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ดีในทุกหมวด ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม โดยสินค้าเกษตร เดือน มิ.ย.ขยายตัว 21.7% มูลค่า 94,511 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกขยายตัว 9.3% มูลค่า 476,071 ล้านบาท โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง คือ ข้าว, ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง, ลำไยแห้ง, เงาะสด, ทุเรียนสด, ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูป และยางพารา

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 16 เดือนต่อเนื่อง โดยเดือนมิ.ย. ขยายตัว 28.3% มูลค่า 75,160 ล้านบาท ส่วน 6 เดือนแรกขยายตัว 27.9% มูลค่า 398,023 ล้านบาท สินค้าสำคัญ คือ น้ำตาลทราย, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 16 เดือนต่อเนื่องเช่นกัน เดือนมิ.ย. ขยายตัว 6.7% และ 6 เดือนแรกขยายตัว 10.5% เป็นมูลค่า 3,855,864 ล้านบาท สินค้าที่ขยายตัวดี คือ เครื่องโทรสาร-โทรศัพท์อุปกรณ์, ส่วนประกอบเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และอัญมณีและเครื่องประดับ

ตลาดส่งออกที่ขยายตัวสูงใน 5 อันดับแรก คือ เอเชียใต้ ขยายตัว 49.5% รองลงมา คือ อาเซียน ขยายตัว 35.6% แคนาดา 26.2% ตะวันออกกลาง 24.0% และ CLMV 19.5%

"การดำเนินงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยหนุนคือการใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มโอกาสการส่งออกการจัดกิจกรรมโดยความร่วมมือ Mini-FTA การส่งเสริมการขายในศูนย์การค้าของต่างประเทศ การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ อย่างเช่นกับซาอุดีอาราเบียในครั้งที่เยือนไทย เฉพาะตรงนั้นก็มูลค่า 11,500 ล้านบาทแล้ว" นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวถึงภาวะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนมิ.ย. ว่า การส่งออกขยายตัว 10.4% มีมูลค่า 102,242 ล้านบาทและ 6 เดือนแรกขยายตัว 1.2% รวมมูลค่า 506,827 ล้านบาท โดยเฉพาะการค้าชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา การส่งออกมีมูลค่า 57,358 ล้านบาท ขยายตัว 25.8% และ 6 เดือนแรกขยายตัว 18.7%

ทั้งนี้ ประเทศมีมาเลเซีย เป็นคู่ค้าชายแดนอันดับหนึ่งของประเทศไทยโดยเดือนมิ.ย. มูลค่าการส่งออก 16,461 ล้านบาท ขยายตัว 22.8% ส่วนการค้าผ่านแดน คือ ไปจีน สิงคโปร์เวียดนาม และอื่นๆ ปัจจัยหลัก คือ ผู้ส่งออกหันกลับไปขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศเพิ่มขึ้น หลังการแก้ปัญหาโรคระบาด และปัญหาค่าระหว่างเรือ รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

ด้าน นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกนี้สะท้อนความสามารถในการผลิตสินค้าอาหารของไทยป้อนสู่ตลาดโลก และสอดรับนโยบาย "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ยังคงเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิตโลก สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ อาเซียน สหภาพยุโรป และตลาดรอง ได้แก่ เอเชียใต้ ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา ทั้งนี้ การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 65 ขยายตัว 12.7% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 9.0%

"มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิ.ย. 65 การส่งออก มีมูลค่า 26,553.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.9% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะนโยบายและทิศทางที่ได้จากรมว.พาณิชย์ ที่ติดตามใส่ใจโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) พร้อมทั้งติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคอย่างทันท่วงทีตลอดเวลา โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน" นายรณรงค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ