ครม.อนุมัติ 500 ลบ. ใช้ในโครงการเสริมสภาพคล่องผู้เลี้ยงกุ้งทะเล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 16, 2022 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 โดยจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ให้กรมประมงยืมสำหรับใช้ดำเนินการโครงการ วงเงิน 500 ล้านบาท มีกำหนดเวลาในการชำระคืนภายใน 3 ปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ.2565 - 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อให้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งทะเลแต่ขาดสภาพคล่อง ได้มีแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ

สำหรับโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่องในด้านปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล และสร้างความมั่นคงทางอาชีพ โดยกรมประมง จะปล่อยกู้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล จำนวน 1,000 ราย ในพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลรวม 33 จังหวัด แบบไม่คิดดอกเบี้ย รายละไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในการเลี้ยงกุ้งทะเล แบ่งเป็นค่าลูกพันธุ์กุ้ง 85,000 บาท และค่าอาหารกุ้ง 415,000 บาท

โดยตลอดโครงการเกษตรกรจะได้รับสิทธิกู้รวมทั้งสิ้น 3 รอบการผลิต (รอบการผลิตเพาะเลี้ยงกุ้งประมาณ 3 เดือน) ภายในระยะเวลา 2 ปี แต่เกษตรกรจะต้องชำระหนี้ทั้งหมดก่อน จึงได้รับสิทธิในการขอกู้ในรอบการผลิตถัดไป ทั้งนี้ สำนักงานประมงจังหวัดจะเปิดรับสมัครเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า คุณสมบัติ และเงื่อนไขของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล และผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ 1.เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ต้องมีขนาดพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งรวมทั้งหมด 4-10 ไร่ และต้องเสนอรูปแบบการเลี้ยงกุ้งทะเลที่ประสบความสำเร็จภายหลังจากได้รับการอนุมัติ 2.ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลที่ผ่านการตรวจโรคลูกกุ้งทะเลจากกรมประมง (White List Hatchery) ของกรมประมง 3.จดแจ้งประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทกิจการการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (จสค.) เป็นต้น

สำหรับการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งทะเลเพื่อการแปรรูป ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานในที่ประชุมว่า เป็นความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ซึ่งไม่กระทบต่อราคากุ้งในประเทศอย่างแน่นอน เพราะเป็นการอนุญาตให้เฉพาะช่วงเวลาที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการแปรูปเท่านั้น โดยห้องเย็นและโรงงานแปรรูป จะต้องรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ-ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไว้ ขณะนี้ ราคากุ้งทะเลขยับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา

ส่วนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทางกรมประมงได้ดำเนินการอย่างรัดกุม มีการประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนอย่างเด็ดขาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ