อนุสรณ์ แนะรัฐบาลทบทวนนโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน ห่วงทำหนี้สาธารณะพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday August 21, 2022 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อนุสรณ์ แนะรัฐบาลทบทวนนโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน ห่วงทำหนี้สาธารณะพุ่ง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการกู้ยืมเงิน 1.8 แสนล้านบาท ว่า มีความจำเป็นในการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน หากยังต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานและบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาพลังงานแพง เพราะหากไม่มีการค้ำประกันเงินกู้ของกองทุน ก็จะไม่มีสถาบันการเงินแห่งไหนสามารถปล่อยกู้ให้กับกองทุนได้ เนื่องจากกองทุนประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง มีฐานะติดลบมากกว่า 1.17 แสนล้านบาท (ณ 7 ส.ค. 65)

อย่างไรก็ตาม การค้ำประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลัง และการก่อหนี้เพิ่มของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หากใช้เต็มเพดานจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ฐานะทางการคลังในอนาคตมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาล กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การออกมาตรการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่เข้มข้นกว่านี้ รวมทั้งต้องทบทวนนโยบายอุดหนุนราคาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

"การที่ต้องใช้เงินภาษีประชาชนชดเชยส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาเพดาน ทำให้เกิดภาระหนี้สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ คาดการณ์ว่าหากไม่ยกเลิกนโยบายการอุดหนุนราคา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะติดลบทะลุ 1.5 แสนล้านบาทภายในเดือนตุลาคม การกู้เงิน 1.8 แสนล้านบาท จึงอาจไม่เพียงพอต่อสถานการณ์การปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานรอบใหม่" นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การทยอยผ่อนคลายการอุดหนุนลงบ้างเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงต่อปัญหาวิกฤติฐานะการคลัง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวจากการใช้งบประมาณมากเกินไปในการอุดหนุนราคาพลังงาน ตราบใดที่รัฐบาลยังมีนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานอยู่โดยไม่ทบทบวน รัฐบาลจะต้องหาเงินกู้มาช่วยสนับสนุนกองทุน ซึ่งเงินกู้เหล่านี้ ก็คือหนี้สาธารณะที่ต้องจ่ายในอนาคต ส่วนการนำ "กำไร" ส่วนเกินปกติจากค่าการกลั่นน้ำมันมาเสริมสภาพคล่องกองทุนนั้น ต้องออกเป็นกฎหมายและอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานในระยะยาวได้ รวมทั้งไม่เป็นไปตามหลักการค้าเสรี

ส่วนปัญหาสภาพคล่องและการแบกหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น นายอนุสรณ์ มองว่า เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ กฟผ.แบกรับค่าเอฟที (ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ) แทนประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งต้องแบกภาระหนี้มากกว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว และอยู่ในภาวะใกล้ขาดสภาพคล่อง รัฐบาลต้องคิดใหม่เรื่องนโยบายพลังงานไฟฟ้าและนโยบายรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

เช่นเดียวกัน ขณะนี้การใช้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhance single buyer model โดย กฟผ. เป็นผู้ซื้อรายเดียวจากเอกชนเพียงไม่กี่รายจากการได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้า จะทำให้ประสิทธิภาพในแง่อัตราการใช้ประโยชน์ในระบบการผลิตไฟฟ้าแย่ลง และสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ จะทำให้สวัสดิการสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่า ต้นทุนและราคาไฟฟ้าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าควรให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น

"ทางออกคือ การเปิดเสรีและเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น การแปรรูปและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต้องทำพร้อมกับการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการผ่องถ่ายผลประโยชน์และอำนาจจากองค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจมาที่กลุ่มทุนเอกชนผู้รับสัมปทาน โดยสวัสดิการสังคมโดยรวมของสังคมจะแย่ลง นอกจากนี้ ควรเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น" นายอนุสรณ์ระบุ

พร้อมเห็นว่า การเดินหน้าปฏิรูปกิจการพลังงานมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และพลวัตเศรษฐกิจ รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เกิดปัญหาและข้อจำกัดด้านความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิรูปกิจการพลังงานกันใหม่ โดยประเทศไทยควรต้องมีแนวทางการบริหารจัดการกิจการพลังงานของประเทศใหม่ ปรับปรุงการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีและการสนับสนุนพลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงาน ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างแท้จริง

โดยยุทธศาสตร์ใหม่ต้องครอบคลุม ดังนี้ ประการแรก ต้องทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานอย่างแท้จริง ลดการพึ่งพาภายนอกให้น้อยลง โดยเฉพาะลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา ประการที่สอง ต้องสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในกิจการพลังงาน เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค ประการที่สาม ต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานของประเทศ ประการที่สี่ การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศทางด้านพลังงาน และประการที่ห้า พัฒนากิจการพลังงานให้สนับสนุนต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนและธุรกิจอุตสาหกรรมฐานเศรษฐกิจใหม่ New S-Curve


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ