ททท.มองแนวโน้มท่องเที่ยวไทยฟื้นกลับไปเท่าก่อนโควิดในปี 67 เอกชนชูจุดแข็งด้าน wellness

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 24, 2022 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน​ "Thailand Focus 2022: The New Hope" ในหัวข้อ​ "ประเทศไทย... ที่หมายเพื่อการใช้ชีวิต" ว่าการแพร่ระบาดโควิดทำให้การท่องเที่ยวปรับตัวสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน 3 R คือ Reopen Recovery Resilient ในไตรมาส 3/64 ไทยเริ่มเปิดประเทศนำร่องด้วยภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและสาธารณสุขไปควบคู่กัน​

ต่อมา ไตรมาส​ 4/64 เป็นต้นมา ประเทศไทยเดินหน้าเปิดประเทศ จนปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวไทยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวแบบมีคุณค่าและยังยืน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 40,447 คน ในเดือน ม.ค.65 เป็น 1,070,353 คนในเดือน ก.ค.65 สร้างรายได้ 1.57 พันล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 10 ล้านคน และเพิ่มเป็น 20 ล้านคนในปี 66 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 2.4 ล้านล้านบาท หรือ กลับมา 80% เทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด จากการมุ่งเน้นการท่องเที่ยวคุณภาพ และ ปี 67 จะมีรายได้ 3 ล้านล้านบาทกลับไปเท่ากับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด

ส่วนแพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหาร และ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) กล่าวว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งรวมถึง​ wellness tourism, wellness real estate ฯลฯ ซึ่งจุดหมายปลายทางยอดนิยม คือ กรุงเทพ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ สมุย นี่คือโอกาสและจุดแข็งของประเทศไทย​ ทั้งนโยบายรัฐบาลสนับสนุนศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชีย, อัตราค่ารักษาที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่งถึง 40-70%, โครงสร้างพื้นฐาน, เทคโนโลยี, บุคคลากรการแพทย์มืออาชีพ, อัธยาศัยของคนไทย และแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

"แผนของเราจะสร้าง​ ecosystem ของการดูแลสุขภาพเพื่อให้บริการด้านสุขภาพกับทุกวัย​ผ่านการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล​ เราหวังว่าในอนาคตอันใกล้​ ทุกคนจะสามารถเห็นประวัติสุขภาพของตัวในโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ต่างๆ" แพทย์หญิงปรมาภรณ์​ กล่าว

ขณะที่นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI)​ กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิดได้ส่งผลกระทบกับผู้คนและธุรกิจให้ปรับพฤติกรรมการชีวิตการทำงานและไลฟ์สไตล์อยู่กับบ้าน ซึ่งยังคงมีแนวโน้มจะเป็นแบบนี้อีกต่อไป ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์วางกลยุทธ์ให้เข้ากับกระแส WFH เทรนด์สมาร์ทซิตี้ และการใช้ชีวิตวัยเกษียณ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งอาหารอร่อย ค่าครองชีพ อสังหาริมทรัพย์คุ้มค่า การรักษาพยาบาทและการแพทย์ที่มีคุณภาพ เชื่อว่าประเทศไทยสามารถชูจุดขาย การเป็นบ้านของคนวัยเกษียณ หรือ บ้านหลังที่สองของคนทั่วโลกได้

ด้านนายอธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีในไทยชะลอตัวลงอย่างชัดเจน สาเหตุจากนักลงทุนสนใจสตาร์ทอัพไทยมักจะมีเงื่อนไขให้ย้ายการจดทะเบียนไปยังประเทศอื่น เพราะกฎระเบียบที่เป็นมิตรกว่า เช่น การยกเว้นภาษี Capital Gain Tax และ คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้อนุมัติการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax จนถึงเดือนมิ.ย.66 เชื่อว่าจะทำให้สตาร์อัพที่เตรียมย้ายไปสิงคโปร์ตัดสินใจใหม่ และการออกวีซ่าระยะยาวให้กับ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มมั่งคั่ง กลุ่มเกษียณ กลุ่มคนทำงานในไทยให้บริษัทต่างชาติ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานให้บริษัทไทย ทีมีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมถึงครอบครัวด้วย และ อีกไม่นานจะมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมกับกลุ่มฟรีแลนซ์อีกด้วย น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ