(เพิ่มเติม) ดัชนี MPI ก.ค. ขยายตัว 6.37%YoY, 7 เดือนโต 1.23% สะท้อนกิจกรรมศก.ฟื้นตัว-บาทอ่อนหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2022 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ดัชนี MPI ก.ค. ขยายตัว 6.37%YoY, 7 เดือนโต 1.23% สะท้อนกิจกรรมศก.ฟื้นตัว-บาทอ่อนหนุน

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 95.71 ขยายตัว 6.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยช่วง 7 เดือนแรกของปี 65 (ม.ค.-ก.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 1.23%

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนก.ค. อยู่ที่ 61.01% ลดลงจาก 62.46% ในเดือน มิ.ย. 65 ขณะที่ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 65 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.42%

"คาดว่า MPI ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่ขยายตัวท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลก" นางศิริเพ็ญ กล่าว

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตเดือน ก.ค. 65 ได้แก่ ผลของฐานต่ำ เนื่องจากในปีก่อนเป็นช่วงที่มีการระบาดค่อนข้างรุนแรง มีการล็อกดาวน์และปิดแคมป์คนงานในบางพื้นที่ รวมถึงมีการติดเชื้อในสถานประกอบการค่อนข้างมาก

ขณะที่สถานการณ์การผลิตกลับมาปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ อุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวช่วยฟื้นการบริโภคภายในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิม 6 ล้านคน เป็น 8 ล้านคนในปีนี้

รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนก.ค. ขยายตัว 0.50% (มูลค่า 17,503.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกัน

"สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้า และช่วยหนุนการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อ และมีการเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น" นางศิริเพ็ญ กล่าว

อย่างไรก็ดี สถานการณ์เงินเฟ้อยังคงส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตอยู่ แต่มีทิศทางชะลอตัวลง โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนก.ค. 65 ขยายตัว 10.5% (เดือนมิ.ย. 65 ขยายตัว 12.9%)

อุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนก.ค. 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

  • ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.44% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ
  • น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.66% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
  • ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.19% จากผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีต และพื้นสำเร็จรูปคอนกรีตเป็นหลัก หลังความต้องการใช้สินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น โรงงานสามารถผลิตและส่งสินค้าได้ตามปกติ ในขณะที่ปีก่อนมีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างและแรงงานผลิต ทำให้การผลิตและการส่งสินค้าไม่สามารถดำเนินได้ปกติ
  • ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.39% จากผลิตภัณฑ์ Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก
  • เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.40% จากการขยายตัวของตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา และยูโรโซน ประกอบกับภูมิอากาศแปรปรวนและมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายประเทศส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

นางศิริเพ็ญ กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน ส.ค. 65 ได้แก่ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภายในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัว และกลับมาเป็นปกติมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของฐานรายได้ของครัวเรือน และภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายได้ในภาคเกษตรกรรมและภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี

ขณะที่อานิสงส์ของฐานต่ำในปี 64 ในเดือนส.ค. 65 ภาคอุตสาหกรรมยังมีทิศทางขยายตัวได้อีก เนื่องจากภาคการผลิตได้รับปัจจัยบวกมาจากผลของฐานต่ำในปีก่อน จากผลของการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยมีเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงมีแนวโน้มยืดเยื้อ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน กรณีประเด็นไต้หวัน ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบต่างๆ รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตโลก

นอกจากนี้ ยังมีความผันผวนในตลาดการเงินโลก แนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินเข้มงวด โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แรงและเร็วของธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อาจสูงมากกว่าที่คาดการณ์ อาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่ประเด็นสำคัญในเดือนก.ย.-ต.ค. 65 ประกอบด้วย ปัจจัยภายในประเทศ คือ ภาคการผลิตขยายตัวตามคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น อุปสงค์ภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นและยังคงเติบโตได้ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการเปิดประเทศ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงภาคท่องเที่ยว ขณะที่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจไทยขยายตัวลดลงในภาคการผลิตเนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น โดยภาคที่ไม่ใช่การผลิตฟื้นตัวได้หลังจากภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศ

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ อยู่ในช่วงขาลงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ รวมทั้งข้อพิพาทระหว่างประเทศ และตลาดหลักของอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่ภาวะไม่ปกติ ได้แก่ สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค สหภาพยุโรปคาดอาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ และสาธารณรัฐประชาชนจีนเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาการว่างงานเพิ่ม วิกฤตอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ มีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ซึ่งจะกระทบต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อพลังงานและวัตถุดิบ เศรษฐกิจโลกถดถอย รวมทั้งปัญหาข้อพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ

"สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวัง คาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติ ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง" นางศิริเพ็ญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ