ดัชนีเชื่อมั่น SME Q3/65 เริ่มฟื้น รับอานิสงส์นทท.เพิ่ม-ใช้จ่ายในปท.กระเตื้อง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 9, 2022 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีเชื่อมั่น SME Q3/65 เริ่มฟื้น รับอานิสงส์นทท.เพิ่ม-ใช้จ่ายในปท.กระเตื้อง

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 3/65 ว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 56.82 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 2/65 ที่ 56 โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้น มาจากกำลังซื้อและการจับจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ดัชนีเชื่อมั่น SME Q3/65 เริ่มฟื้น รับอานิสงส์นทท.เพิ่ม-ใช้จ่ายในปท.กระเตื้อง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับ 3 เดือนก่อนหน้า พบว่า ต้นทุนของการประกอบการมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม จำนวนคำสั่งซื้อและสภาพคล่องของธุรกิจมีการปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการ SMEs เชื่อมั่นว่าผลประกอบการและคำสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันส่งผลให้ปริมาณการผลิต และสภาพคล่องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ความกังวลจากภาวะต้นทุนสูงคลี่คลายลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม สัดส่วน SMEs ที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่ม หรือจ้างงานเพิ่มยังอยู่ในระดับต่ำ

นายมยุขพันธุ์ ไชยมั่นคง ผู้อำนวยการโครงการ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันศศินทร์ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าเทียบกับปัจจุบัน พบว่า กลุ่มผู้ประกอบการยังมีความกังวลด้านต้นทุนของการประกอบการ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมกลุ่มผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น" นายมยุขพันธุ์ กล่าว

เมื่อพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในภาคบริการประเภทธุรกิจท่องเที่ยวความเชื่อมั่นลดลง และต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วง Low Season ของภาคการท่องเที่ยว ส่วนธุรกิจก่อสร้างมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนได้มากขึ้น และเมื่อพิจารณาตามขนาดธุรกิจ พบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มขนาดย่อม (Micro) และขนาดเล็ก (Small) มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น

ในภาพรวมกลุ่มผู้ประกอบการ 46.60% มีการฟื้นตัวทางธุรกิจ โดยกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง (Medium) และภาคการผลิตส่วนใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยกลับมามีกำไรเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ขนาด Micro ภาคการค้า และภาคการบริการยังคงเปราะบาง สะท้อนได้จากกำไรของธุรกิจที่ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด

นายมยุขพันธุ์ กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยของผลกำไรในปัจจุบันของผู้ประกอบการ SMEs ต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด 21.94% โดยกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ขนาด Micro และภาคการบริการมีกำไรเฉลี่ยลดลงมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอื่น

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs มองว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจจะเพิ่มขึ้น หากภาครัฐมีการควบคุมราคาสินค้าหรือวัตถุดิบ 85% ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ 78.20% และสนับสนุนเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง 61.40%

ในส่วนของผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อระดับเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น พบว่า 97.60% ได้รับผลกระทบจากระดับเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดย 53.07% มีการปรับตัวโดยการขึ้นราคาสินค้าและบริการ และ 36.48% มีการลดต้นทุน ทั้งนี้ พบว่าภายหลังจากการปรับตัวกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ 47.63% มีกำไรเท่าเดิม

"กลุ่มผู้ประกอบการขนาด Micro ส่วนใหญ่เลือกที่จะปรับตัวต่อระดับเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยการขึ้นราคาสินค้าและบริการ ส่วนธุรกิจขนาด Medium ไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าหรือลดต้นทุนแต่อย่างใด และภายหลังการปรับตัว พบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่มีกำไรเท่าเดิม" นายมยุขพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ 46.20% ได้รับผลกระทบปานกลาง โดยผลกระทบที่ธุรกิจได้รับ คือต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 80.80% ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 72.80% และกำลังซื้อของลูกค้าลดลง 33.80%

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ประกอบการ 36.48% ได้มีการปรับตัวโดยการลดต้นทุนด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทนหรือหา Supplier รายใหม่ 44.94%, ลดขนาด ปริมาณ หรือบริการ 41.01%, ปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 41.01% และนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจ 33.15%

นายมยุขพันธุ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาระดับเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อันดับหนึ่ง คือ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลและค่าสาธารณูปโภคมากที่สุด 81.97% รองลงมา คือ การควบคุมราคาวัตถุดิบ 78.06% และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 65.16%

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ 82.99% ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงภาวะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ยังต้องการการสนับสนุนด้านที่ปรึกษา เพื่อช่วยในการปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพหรือลดต้นทุน 40.37%

สำหรับการสำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายการขับเคลื่อน BCG Model ของภาครัฐ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพียง 20.40% มีการรับรู้ต่อนโยบายการขับเคลื่อน BCG Model ของภาครัฐ มี 6.40% มีความเข้าใจต่อนโยบาย BCG Model และมีเพียง 2.60% เท่านั้นที่มีการนำนโยบาย BCG Model มาใช้กับธุรกิจ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการนำแนวคิด BCG Model มาใช้กับธุรกิจ โดยการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตหรือบริการ 31.25% เพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ 21.88% ลดการปล่อยของเสียหรือมลพิษ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 18.75%

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่ได้นำแนวคิด BCG Model มาใช้กับธุรกิจ แต่มีแผนจะนำมาใช้ในอนาคต มีการวางแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 50% เป็นหลัก ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจนำแนวคิด BCG Model มาใช้กับธุรกิจเนื่องจาก มองว่าไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ 42.86% ขาดความรู้ที่จะนำมาใช้และไม่คุ้มค่าในการลงทุน 21.43%

"ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs มีแนวคิดนำ BCG Model มาใช้กับธุรกิจ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตหรือบริการ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ลดการปล่อยของเสียหรือมลพิษ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดย SMEs ที่นำแนวคิด BCG Model มาปรับใช้กับธุรกิจยังมีสัดส่วนน้อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และประโยชน์ที่ได้รับจากการนำนโยบาย BCG Model ไปปรับใช้กับธุรกิจ และควรมีมาตรการเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs มีการนำนโยบาย BCG Model ไปปฏิบัติมากยิ่งขึ้น" นายมยุขพันธุ์ กล่าว

ด้านนายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า ภาพรวมผู้ประกอบการ SMEs มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุน โดย SMEs สามารถปรับตัวทางธุรกิจได้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการทำตลาด การบริหารจัดการต้นทุน รองรับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ภาพรวมกำไรของผู้ประกอบการ SMEs ในปัจจุบันต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เฉลี่ยประมาณ 21.94% โดยเฉพาะกลุ่ม Micro และภาคบริการ ผลกำไรฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น

"ธพว. จะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ SMEs รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อจะช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการได้ทันท่วงที โดยเฉพาะดูแลต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการให้สามารถวางแผนบริหารจัดการได้เหมาะสม ควบคู่กับส่งเสริมการเข้าสู่ BCG Model ซึ่งมีส่วนช่วยลดต้นทุนของธุรกิจ พร้อมสนับสนุนสินเชื่อ BCG Loan วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ผ่อนนานถึง 12 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี" นายโมกุล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ