BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 36.00-36.85 จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2022 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.85 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.32 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 36.27-36.82 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกเงินยูโรและเงินปอนด์แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี และ 37 ปี ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกอ่อนค่าเทียบหลายสกุลเงินหลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ย 75bp ซึ่งถือเป็นการขึ้นครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แม้ยูโรโซนเผชิญกับความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการปันส่วนพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง โดยอีซีบีปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นสู่ระดับ 0.75% จาก 0% ขณะที่ประธานอีซีบีให้ความเห็นว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกมากกว่าสองรอบประชุมแต่อาจจะไม่ถึงห้ารอบ โดยอีซีบีประเมินว่าในปี 66 อัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่ 5.5% จาก 8.1% ในปีนี้ ขณะที่ทางด้านประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ แต่ได้ให้ความหวังเกี่ยวกับภาวะ soft landing ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 5,204 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 10,980 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ คาดว่า ตลาดจะจับตาข้อมูลเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะชะลอลงสู่ 8.0% จาก 8.5% ในเดือนกรกฎาคม โดยข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลต่อการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับดอกเบี้ยเฟดต่อไป ทั้งนี้นักลงทุนคาดว่ามีโอกาสราว 88% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 75bp สู่ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายน นอกจากนี้สัญญาณที่หนักแน่นมากขึ้นจากทางการญี่ปุ่นเกี่ยวกับโอกาสเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนอาจทำให้ผู้ร่วมตลาดระมัดระวังมากขึ้นที่จะเดินหน้าเทขายเงินเยนจากระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี

สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เน้นย้ำว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจในแต่ละช่วง ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้นและเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยคาดว่าจีดีพีปี 65 และ 66 จะเติบโตราว 3% และ 4% ตามลำดับ ขณะที่ ธปท.จะยังคงดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ท่าทีดังกล่าวสนับสนุนมุมมองที่ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสองรอบประชุมที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ