ดิจิทัลคอนเทน์ไทยปี 64 แตะ 4.2 หมื่นลบ. อานิสงส์อุตฯ เกม ดันทั้งระบบโตต่อเนื่อง 3 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2022 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มยุทธศาสตร์และความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ดีป้า ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ประจำปี 64 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี ร่วมกับสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT), สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA), สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA), สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (Bangkok ACM SIGGRAPH) และบริษัท แอทไวส คอนซัลติ้ง จำกัด

ผลสำรวจ พบว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปี 64 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 7% มูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 42,065 ล้านบาท โดยได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมเกมที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมแอนิเมชันที่ฟื้นตัวจากงานรับจ้างผลิตจากต่างประเทศ

น.ส.กษิติธร กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกมมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 62 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 16% ปี 63 เติบโต 35% และปี 64 เติบโต 8% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 37,063 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของผู้ให้บริการเกมบนโมบายแพลตฟอร์ม ทั้ง iOS และ Android โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 22,237 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60% ของมูลค่าอุตสาหกรรมเกมปี 64

อย่างไรก็ดี ปีที่ผ่านมา ดีป้าดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ หรือผู้พัฒนาเกมผ่านโครงการ Game Online Academy และ Game Accelerator Program และในส่วนของบุคคลทั่วไปผ่านโครงการ E-sports in School, E-sports Online Academy, E-sports National Tournament และ E-sports Accelerator Program

ทั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่ผู้พัฒนาเกม (Game Developer) เพื่อตีตลาดและเก็บส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศอื่น ที่เป็นประเทศผู้พัฒนาเกมชั้นนำของโลก อีกทั้งสร้างทัศนคติที่ดี ควบคู่ไปกับส่งเสริมการใช้เกมให้เกิดประโยชน์ มากกว่าการเล่นเพื่อความบันเทิง

สำหรับอุตสาหกรรมแอนิเมชัน มีอัตราขยายตัวเฉลี่ย 11% มูลค่ารวมอยู่ที่ 3,399 ล้านบาท จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้รับชมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งด้านปริมาณและความรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการจ้างงานจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ของค่าเงินบาทที่อ่อนค่า นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้มูลค่าของอุตสาหกรรมแอนิเมชันเริ่มฟื้นตัวในปีที่ผ่านมา โดยการรับจ้างผลิตแอนิเมชันมีอัตราการขยายตัว 16% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2,864 ล้านบาท

ส่วนอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ หดตัวเฉลี่ย 18% โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1,603 ล้านบาท เนื่องจากผลพวงทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สภาพคล่องทางการเงินของประชาชนไทยหลายกลุ่มลดลง ประกอบกับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ลดลง จากมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ

ดังนั้น ทำให้การบริโภคสินค้าในกลุ่ม Gift Accessory และ Fashion ลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าการเช่าหรือซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์หดตัวเฉลี่ย 50% โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 486 ล้านบาท จากเดิมที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 1,425 ล้านบาทในปี 61 และ 1,422 ล้านบาทในปี 62 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี จากความเปลี่ยนแปลงของตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ที่เกิดขึ้น ดีป้าคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยจะยังคงเติบโตต่อเนื่องอีก 3 ปี โดยจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 46,961 และ 53,729 ล้านบาทในปี 65-66 ซึ่งมูลค่าอุตสาหกรรมอาจพุ่งถึง 62,435 ล้านบาท ในปี 67

ทั้งนี้ มีปัจจัยหนุนมาจากอุตสาหกรรมเกม ที่ประเมินว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอุตสาหกรรมแอนิเมชัน และอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ที่เริ่มปรับฟื้นตัว หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 62

"หวังว่าผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ปี 64 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปีจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจวางแผนธุรกิจ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปรับตัวเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ โดยการนำแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย อีกทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบาย และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของรัฐบาล ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป" น.ส.กษิติธร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ