สร้างอนาคตไทย ชี้รัฐบาลบริหารพลังงานผิดพลาดทำค่าไฟ-ก๊าซแพง แนะรื้อโครงสร้างครั้งใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 22, 2022 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) แถลงข่าวในหัวข้อ "ชำแหละประเด็นค่าไฟแพง แก๊สแพง ใครทำร้ายประชาชน" ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้าๆ มาจาก 2 ปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัว และต้นทุนพลังงานในประเทศมีผลกระทบต่อภาคการผลิต ขีดความสามารถในการแข่งขันได้รับผลกระทบ และค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้น กำลังซื้อลดลง ยอดขายธุรกิจลดลง เศรษฐกิจไทยยังเปราะบางและอ่อนไหว

ทั้งนี้ ในภาวะปัจจุบันที่มาตรการดูแลเรื่องพลังงานมีผลต่อเศรษฐกิจไทย และความมั่นคงด้านพลังงานเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนประเทศจากวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นถือเป็นโอกาสที่จะมารื้อโครงสร้างพลังงานใหม่ทั้งหมด ถ้าเอาประโยชน์ประเทศเป็นตัวตั้ง เรื่องพลังงานไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ทั้งเรื่องต้นทุน การดูแลเงินเฟ้อ และการดูแลเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยน จำเป็นต้องดูแลให้ครบถ้วน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องทำงานสอดคล้องกันในภาวะวิกฤตนี้ และหวังว่า ภาครัฐจะช่วยดูแลเรื่องนี้

นายอุตตม มองประเด็นการที่รัฐขึ้นค่าไฟในช่วงนี้ เพราะต้องนำมาชดเชยกับเงินงบประมาณที่ใช้ไปกับการดูแลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้งบประมาณมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยขาดทุน 7 แสนล้านบาท ซึ่งความสามารถในการดูแลเยียวยาจากภาครัฐจะลดลง และจะบริหารจัดการอย่างไรให้ครอบคลุม เหมาะสม ไม่เหวี่ยงแห

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงษ์ เลขาธิการพรรค กล่าวว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และค่าเงินบาท ยังคงอยู่ต่อไปอีก 6-7 เดือนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งประชาชนจะลำบากมาก ซึ่งในส่วนค่าไฟฟ้า ประชาชนแบกค่าไฟฟ้าหลังแอ่น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแบกค่า Ft ตอนนี้ 60-70 สตางค์/หน่วย แบกค่าประกันค่าตอบแทนโรงไฟฟ้า และแบกค่าราคาก๊าซ ซึ่งต้นเดือน ก.ย.65 เราใช้ค่าไฟ 4.72 บาท/หน่วย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพงมาจากเชื้อเพลิง 54.8% และปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 31.3% แต่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าเอกชน 31.2% ชี้ให้เห็นว่า ความมั่นคงด้านพลังงานกำลังเปลี่ยนผ่านจากรัฐไปสู่เอกชน

ทั้งนี้ ค่าก๊าซแพงจนกลายเป็นภาระประชาชน ซึ่งการใช้ก๊าซในอ่าวไทยลดลงมาตั้งแต่ปี 60 พอพ้นปี 63 ปริมาณการผลิตลดลง และก๊าซจากแหล่งเอราวัณลดลง ต้องมีการนำเข้า LNG มากขึ้น ส่งผลต้นทุนเราแพงขึ้น และคาดการณ์ว่า นับจากนี้ไปไทยเหลือก๊าซใช้เองไม่เกิน 7-10 ปี และหลังจากนี้จะต้องมีการนำเข้า LNG ทั้งหมด และส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นจาก 318 บาท/ถัง (15 ก.ก.) ขึ้นมาเป็น 408 บาท/ถัง และเชื่อว่า ราคาก๊าซจะยังเพิ่มสูงขึ้นไปถึงอย่างน้อยเดือน มี.ค.66 ที่ประชาชนต้องแบกรับภาระต่อไป

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า การบริหารจัดการนโยบายพลังงานที่ผ่านมาถือว่าเป็นการผิดพลาดครั้งใหญ่ พร้อมตั้งคำถามว่า กำลังการผลิตส่วนเกินจากเอกชนใครได้ประโยชน์ การบริหารความมั่นคงของก๊าซในอ่าวไทย และเปลี่ยนผ่านการบริหารที่ผ่านมา ได้มีการรองรับปัญหาเหล่านี้หรือไม่ และธุรกิจ LNG วันนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงการที่พรรคเคยตั้งคำถามถึงเรื่องค่าการกลั่นที่เคยบอกว่าจะลดได้ แต่วันนี้กลับเงียบ รวมถึงการอ้างอิงราคาสิงค์โปร์ พรรคเรียกร้องมาตลอดเมื่อเกิดวิกฤตให้เอาต้นทุนจริงมาดู แต่วันนี้กลับไม่แก้ปัญหา

"เราควบคุมราคาพลังงานโลกในภาวะนี้ไม่ได้ แต่เราสามารถควบคุมผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้ หากเป้าหมาย คือ ประชาชน" นายสนธิรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ ตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า กำลังดำเนินการอะไรอยู่ ซึ่งราคาน้ำมัน ก๊าซ ลดลงได้ ถ้าเอาต้นทุนที่แท้จริง ทั้งก๊าซและน้ำมัน รัฐและปตท.ต้องหยุดกลไกบริหารพลังงานแบบเดิมๆ และประชาชนต้องเป็นเจ้าของพลังงานอย่างแท้จริง ซึ่งวันนี้เรายังคงพึ่งพาการนำเข้าจากไฟฟ้า ต้องนำเข้าแก๊ส LNG เพื่อมาผลิตไฟฟ้า พร้อมทั้งเตือนไปถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้เตรียมตัวรับมือกับการขึ้นราคาสินค้า ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ราคาพลังงานที่เหมาะสมต้องมาจากต้นทุนพลังงานที่แท้จริง ต้องหาแหล่งพลังงานราคาถูกเข้ามา ไม่ใช่เซ็นสัญญาระยะยาวที่มีอยู่ เอาต้นทุนเหล่านั้นเป็นตัวตั้ง ไม่เช่นนั้นต้องชดเชยปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยค่าเอฟที ค่าก๊าซ ค่าน้ำ จึงขอเสนอให้แก้ที่รากปัญหาและเชื่อว่า ราคาจะลดลง รัฐชดเชยให้ประชาชนลดลง จึงจำเป็นต้องแก้ที่ต้นเหตุคือ การปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการพลังงาน และรื้อวิธีบริหารแบบดั้งเดิม

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องรื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ และไม่ปล่อยให้ทุนมาครอบงำพลังงานของประเทศไทย โดยถ้าพรรคเข้าไปบริหารจะนำนโยบาย 4 โซลาร์ของพรรคสร้างอนาคตไทยแก้ปัญหาทั้งหมด 1.โซลาร์รูฟท็อป สร้างรายได้และลดรายจ่ายให้ประชาชน 2.โซลาร์ฟาร์มบนมิติโรงไฟฟ้าชุมชม ผสมผสานพลังงานเกษตรและแสงอาทิตย์ 3.โซลาร์สูบน้ำบาดาลทั่วทั้งประเทศ มีน้ำทำการเกษตรด้วยแสงอาทิตย์ และ 4.โซลาร์ลอยน้ำ เพิ่มพลังงานให้เป็นของรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ