สกนช.แจงกองทุนน้ำมันฯ รอบปี 65 ติดลบ 1.2 แสนลบ.จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2022 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ในรอบปี 65 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 โดยดูแลเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในช่วงเกิดวิกฤตด้านพลังงานนับตั้งแต่เดือนต.ค.64 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงฤดูหนาว จากนั้นในเดือนก.พ.65 เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้กลไก จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนราคาโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ

ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ ราคาอยู่ระดับเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตั้งแต่เดือนก.พ.65 เป็นต้นมา โดยราคาดีเซล (Gas Oil) ตลาดโลกปัจจุบันเดือนก.ย.65 เฉลี่ยอยู่ที่ 131.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก.ย.ปีที่แล้วถึง 58% ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 82.92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีน้ำมันเริ่มติดลบตั้งแต่เดือนมี.ค.65 โดยติดลบ 82,674 ล้านบาทจากก่อนหน้าที่เป็นบวกมาตลอด ขณะที่บัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) มีฐานะติดลบมาต่อเนื่องอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 318 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัมมาต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกสูงกว่ามาก

ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 25 ก.ย.65 ติดลบ 124,216 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 82,674 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 42,542 ล้านบาท โดยที่มีเงินช่วยเหลือ ด้านราคาก๊าซจากกลุ่มปตท.เข้ามาเติม 1,000 ล้านบาท

จากการบริหารจัดการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในด้านราคาพลังงานจะเห็นได้ว่า ปีนี้มีการปรับราคาน้ำมันดีเซลที่ราคาลิตรละ 30 บาท เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเริ่มทยอยปรับขึ้นครั้งแรก 1 พ.ค.65 ราคาลิตรละ 32 บาท และปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท ส่วนราคา LPG ก็เช่นกัน หลังจากที่ตรึงไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมมาต่อเนื่องยาวนาน ก็ได้ทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 ปรับขึ้นครั้งแรกเป็น 333 บาท และปัจจุบันอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม

นอกจากนี้ สกนช. ได้ปรับแผนวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน โดยปรับครั้งที่ 1 การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ (จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท) แล้วต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562

การปรับครั้งที่ 2 กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใกล้ติดลบหากระดับราคายังอยู่ในระดับวิกฤต จนส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ ตามมาตรา 26 วรรคสอง หรือ วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะเมื่อใกล้วงเงินกู้ยืมเงินที่ได้รับตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ให้เริ่มดำเนินการพิจารณากลยุทธ์การถอนกองทุนน้ำมันฯ (Exit Strategy) โดยปรับสัดส่วนการช่วยเหลือลงครึ่งหนึ่ง และยังคงดำเนินการหารือเรื่องการปรับลดภาษีสรรพสามิต เพื่อให้ระดับราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก และเริ่มดำเนินการกู้เงินเพื่อให้กองทุนฯ ไม่ขาดสภาพคล่อง

รวมทั้งยังมีการขยายกรอบวงเงินกู้จาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขอขยายกรอบวงเงินกู้เป็น 150,000 ล้านบาท

ในส่วนของการดำเนินการในบทเฉพาะการตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 นั้น สกนช. ได้ขยายเวลาจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี ครบกำหนด 24 ก.ย.67 เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดความผันผวนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเศรษฐกิจที่ถดถอยเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ จึงได้มีการขยายเวลาออกไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ