(เพิ่มเติม1) กนง.เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แจงบาทอ่อนไม่กระทบศก.-เงินเฟ้อ ยันติดตามใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2022 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม1) กนง.เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แจงบาทอ่อนไม่กระทบศก.-เงินเฟ้อ ยันติดตามใกล้ชิด

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 28 ก.ย. 65 มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

"กนง.ประเมินว่าการปรับขึ้นนโยบายครั้งนี้ จะส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์ให้มีการทยอยตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าของธนาคารพาณิชย์อยู่ในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม และเอสเอ็มอี หลังจากการก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย" นายปิติ กล่าว

ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% และ 3.8% ในปี 65 และ 66 ตามลำดับ ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าสิ้นปี 65 จะอยู่ที่ 9.5 ล้านคน จากเดิมที่คาดราว 6 ล้านคน ก่อนขยับสู่ 21 ล้านคนในปี 66 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 19 ล้านคน อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติของสาขาธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการและในมิติของรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่าคาดส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยคาดการส่งออกปีนี้ จะขยายตัวได้ที่ระดับ 8.2% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 7.9% ขณะที่ปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 1.1% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จะส่งผลต่อภาคการส่งออก แม้ว่าจะไม่ได้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมก็ตาม

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 และ 66 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และ 2.6% ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 65 และ 66 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ โดยโน้มสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

ด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นในบางภาคธุรกิจและบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นหากผู้ประกอบการเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน

"แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระห่างการฟื้นตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดย กนง. จะติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นหากผู้ประกอบการเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน" นายปิติ กล่าว

สำหรับการอ่อนค่าของค่าเงินบาท นายปิติ กล่าวว่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเงินบาทที่อ่อนค่าเร็วและต่อเนื่อง เป็นผลมาจากดอลลาร์เป็นหลัก โดยตั้งแต่ต้นปีดอลลาร์แข็งค่าไปแล้ว 18.4% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลง 12.1% แต่ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค โดยเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลมาจากปัจจัยของโลก จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็ว ประกอบกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไปในสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลแค่ไทยเท่านั้น แต่เป็นเหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้เสถียรภาพระบบการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ดี จะช่วยลดทอนผลกระทบของการอ่อนค่าของเงินบาท โดยตั้งแต่ต้นปีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นบวกที่ 4,474 พันล้านดอลลาร์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับที่สูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ยังไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเมื่อเทียบกับหลายประเทศ นักลงทุนยังไม่ได้หนีออก ส่วนการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ค่าเงินบาทที่อ่อนลงจะช่วยผู้ส่งออกด้วยส่วนหนึ่ง และการส่งผ่านของต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นไปยังอัตราเงินเฟ้อ ก็ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจนน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่มีความผันผวนสูง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการเข้าไปดูแล เพื่อไม่ให้ค่าเงินห่างไกลจากปัจจัยพื้นฐานมาก ขณะที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยก็มีข้อจำกัดในการดูแลเรื่องค่าเงิน ซึ่งจะเห็นได้จากที่ผ่านมามีการขึ้นดอกเบี้ยไป 0.25% ต่อปี แต่เงินบาทก็ยังอ่อนค่าอยู่ในระดับ 12.1% ขณะที่หลายประเทศมีการขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ค่าเงินก็อ่อนค่าแรงกว่าไทย ดังนั้นนโยบายดอกเบี้ยจึงมีเป้าหมายหลักในการดูแลเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเป็นหลัก ยังไม่เห็นประเด็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยที่กระชากรุนแรงเพื่อดูแลค่าเงิน แต่ ธปท. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

อีกทั้งระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

นายปิติ กล่าวว่า ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะ ปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ