SCBEIC คาดส่งออกปีนี้โต 6.3% ปี 66 โต 2.5% แนวโน้มชะลอตามทิศทางศก.-การค้าโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 27, 2022 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCBEIC คาดส่งออกปีนี้โต 6.3% ปี 66 โต 2.5% แนวโน้มชะลอตามทิศทางศก.-การค้าโลก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า การส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ตามสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลงชัดเจนขึ้น และเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics)

นอกจากนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงข้างหน้า รวมถึงจีนที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางจากการใช้นโยบาย Zero-COVID และความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ยังมีปัจจัยฐานสูงที่จะเห็นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดย EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 6.3% ในปี 65 และจะชะลอลงเหลือ 2.5% ในปี 66

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือนก.ย. 65 อยู่ที่ 24,919.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.8%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 และเร่งตัวจากเดือนก่อนที่ 7.4% ในขณะที่การส่งออกเดือนก.ย. เทียบกับเดือนส.ค. (แบบปรับฤดูกาล) ขยายตัว 5.8%MOM ในภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 65 ยังขยายตัวได้ดีที่ 10.6%

ส่วนภาพรวมการส่งออกรายกลุ่มสินค้า พบว่า

  • สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัว 2.7% หลังจากหดตัว -10.3% ในเดือนก่อน เทียบกับที่เคยขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี โดยสินค้าหลักที่หดตัวในเดือนนี้ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขณะที่ไก่แปรรูปและไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ยังเป็นสินค้าสนับสนุนสำคัญ
  • สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.8% แต่หดตัว -14% MOM โดยสินค้าที่ส่งออกได้ดีในเดือนนี้ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง ในขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ปรับแย่ลง ในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จะมีความเสี่ยงผลผลิตลดลงจากอุทกภัย

EIC ประเมินว่า ในกรณีฐานสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่ ส่งผลให้มีพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย 1.9 ล้านไร่ โดยเฉพาะจากข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 12,000 ล้านบาท (หรือเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ในกรณีเลวร้าย)

  • สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 9.4% โดยในเดือนนี้สินค้าที่ส่งออกได้ดี เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งสะท้อนปัญหาขาดแคลนชิปที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทอง) ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไก่แปรรูป เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ส่งออกชะลอลง เช่น เม็ดพลาสติก สายไฟฟ้าและสายเคเบิล เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในระยะถัดไปมีแนวโน้มไม่ค่อยสดใส สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนก.ย. โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออกอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนสภาวการณ์ที่แย่ลง

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นยังมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา จนอยู่ในระดับต่ำกว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เน้นตลาดในประเทศ ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หากพิจารณาดัชนีคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศ ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องชี้สัญญาณการส่งออกในอนาคต พบว่า แม้ดัชนีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นที่ระดับ 102 แต่ก็ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในประเทศเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี สอดคล้องกับรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตของไทยโดย S&P Global ที่ระบุว่า ปริมาณคำสั่งซื้อใหม่ในภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยคิดเป็น 79.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

  • สินค้าแร่และเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัวเล็กน้อย 1.2% หลังจากหดตัว -9.7% ในเดือนก่อน
  • สินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดในเดือนก.ย. โดยขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ 89.6% เทียบกับ 31.2% ในเดือนก่อน

สำหรับการส่งออกรายตลาด ยังขยายตัวได้ในตลาดหลักสำคัญ ยกเว้น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอินเดีย โดยตลาดจีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -13.2% โดยสินค้าส่งออกไปจีนที่ลดลงในเดือนนี้ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เคมีภัณฑ์ ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ไก่และกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็งเป็นสินค้าที่ส่งออกได้ดี

ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นหดตัวอีกครั้งในเดือนนี้ที่ -1.7% หลังจากฟื้นตัวในเดือนก่อน ส่วนตลาดสหรัฐฯ และยุโรป (EU28) ขยายตัวเทียบกับปีก่อนที่ 26.1% และ 22.2% ตามลำดับ และขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนแบบ %MOM ในระยะข้างหน้า การส่งออกตลาดนี้อาจชะลอลงจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย และตลาด CLMV และ ASEAN ขยายตัวดีต่อเนื่อง 26.3% และ 9% ตามลำดับ

สำหรับมูลค่าการนำเข้าของไทยในเดือนก.ย. อยู่ที่ 25,772.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.6% ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ 21.3% โดยมูลค่าการนำเข้าเดือนนี้มีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัว -5.8% และ -5.9% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มสินค้าอื่นๆ ยังขยายตัวได้ดี แต่เริ่มมีแนวโน้มชะลอลง

อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยชะลอตัวช้ากว่ามูลค่าการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรเดือนนี้ขาดดุล -853.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 65 มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 20.7% และดุลการค้าขาดดุล -14,984.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ