EXIM Bank ปั้นผู้ส่งออก-นักลงทุนในอุตสาหกรรม BCG เชื่อมโยง Supply Chain โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 3, 2022 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

EXIM Bank ปั้นผู้ส่งออก-นักลงทุนในอุตสาหกรรม BCG เชื่อมโยง Supply Chain โลก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกาศจุดยืนและบทบาทใหม่ "EXIM BANK รวมพลคนกล้า พัฒนาเพื่อคนไทย" และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ถอดรหัสความกล้า พลิกโฉมประเทศไทยในเวทีโลก" โดยระบุว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 3.4% และการส่งออกขยายตัวได้ 8.1% ซึ่งในส่วนของภาคการส่งออกยังคงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยอาศัยบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งการขยายบทบาทของ EXIM BANK ในการผลักดันให้เกิดมูลค่าการค้าและการลงทุนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ต้องอาศัยการพัฒนารากฐานภายในประเทศ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบที่เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศการค้าการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ บรรยากาศส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต สอดรับกับเมกะเทรนด์โลก ประกอบกับการเร่งสร้าง Entrepreneurship DNA ให้คนไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการเติมความกล้าที่จะไม่จำกัดอยู่แค่ตลาดภายในประเทศ กล้าบุกตลาดโลกที่มีโอกาสใหม่ ๆ อีกมาก และใช้จุดแข็งของกิจการต่อยอดและสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง

รมว.คลัง กล่าวว่า ในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่าง EXIM BANK เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอด Supply Chain ให้เติบโตได้มั่นคงและยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ได้ ต้องใช้ "ความกล้า" เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดมิติใหม่ขององค์ความรู้ โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เครือข่ายธุรกิจ การถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ให้สามารถปรับตัวให้ก้าวทันโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระแสรักษ์โลก และความยั่งยืน และผู้ประกอบการไทยต้องกล้าเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ตัวตน (Identity) และโมเดลธุรกิจ (Business Model)

นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร EXIM BANK กล่าวว่า โลกหลังโควิด-19 ได้เปลี่ยนไปอย่างพลิกโฉม ทั้งสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้โมเดลธุรกิจและแผนธุรกิจขององค์กรต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนตัวเล็กอย่างเศรษฐกิจฐานราก และ SMEs ต้องล้มหายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ได้เกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนขึ้นซ้ำเติมให้วิกฤตเงินเฟ้อลุกลามไปทั่วโลก หลายประเทศ รวมทั้งไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จนอาจลืมปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือปัญหาระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นข้างหน้า โดยเฉพาะวิกฤตโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำในสังคม และปัญหาคุณภาพชีวิตต่าง ๆ จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วน รวมทั้ง EXIM BANK ต้องร่วมมือกัน ขยายบทบาทให้สามารถเป็นหนึ่งในกลไกของภาครัฐ ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากปัญหาในเชิงโครงสร้างของประเทศไทยที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเก่า อาทิ รถยนต์สันดาป คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการส่งออกรวม การส่งออกสินค้าไฮเทคมีเพียง 27% และอยู่ระหว่างการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม BCG ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ 90% ของประชากรทั้งประเทศมีเงินออมอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผู้ประกอบการภายในประเทศส่วนใหญ่ยังไม่กล้าออกไปค้าขายหรือลงทุนในตลาดต่างประเทศ จำกัดอยู่ในธุรกิจเดิม ๆ มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถสร้างแบรนด์ไทยให้ติดตลาดโลกได้

EXIM BANK จึงขานรับนโยบายของกระทรวงการคลัง เดินหน้าขยายบทบาทการเป็นผู้นำ (Lead Bank) ที่ "กล้า พัฒนาเพื่อคนไทย (One Step Ahead for All Development)" สร้างนักรบเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในเวทีโลก โดยใช้ 3 เครื่องมือใหม่ ได้แก่

  • บริการสร้างตัวตนแบบครบวงจรให้ SMEs ไทยในเวทีโลก ด้วยเครื่องมือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ตั้งแต่การให้ข้อมูล บ่มเพาะ อบรมสัมมนา และให้บริการทางการเงินที่ครบถ้วน เพื่อช่วยให้เกษตรกรรุ่นใหม่ วิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ และผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองจาก Nobody เป็น Somebody ในตลาดโลกได้
  • บริการสร้างโอกาสการลงทุนในต่างแดน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีศักยภาพ (Amazing M) ในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานการผลิตและขยายเครือข่ายทางการค้า
  • บริการยกระดับธุรกิจไทยสู่ BCG Model มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่รายย่อย รายกลาง ไปจนถึงรายใหญ่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ร่วมขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ BCG ในประเทศไทย เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลก โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุนและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนธุรกิจ BCG ของไทย

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ดำเนินบทบาท "ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย" โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรในปี 2536 และเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้มีบทบาทชัดเจนขึ้นในการรับความเสี่ยง ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ และหนุนทุนไทยไปต่างแดน พร้อมสนับสนุนความฝันของคนไทยและประเทศไทยให้เป็นจริง

ความกล้าปรับเปลี่ยนองค์กร (Transformation) ของ EXIM BANK อาทิ การใช้มาตรฐานทางการเงินใหม่อย่าง IFRS9 ซึ่งนับเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) แห่งแรกที่นำหลักเกณฑ์มาตรฐานทางบัญชี IFRS9 มาใช้ การปรับ Portfolio ให้มีความสมดุล รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการขยายบทบาทสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม และอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มสูง การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างตลาดหลักและตลาดใหม่ การสนับสนุนผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ รวมทั้ง "บุคคลธรรมดา" ให้เข้าสู่ Supply Chain การส่งออกได้ ด้วยนวัตกรรม "สินเชื่อเอ็กซิมสร้างธุรกิจเพื่อบุคคลธรรมดา"

โครงการ Top Executive Program เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้ธุรกิจไทยเติบโตบนเวทีโลก โดยความร่วมมือกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 3 สภาธุรกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย โครงการ EXIM Thailand Pavilion ร้านค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บน E-Commerce ชั้นนำของโลก เพื่อเป็นทางลัดให้ SMEs ไทยเข้าสู่การค้าโลกได้อย่างรวดเร็ว นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป อาทิ EXIM Solar Orchestra เงินทุนติดตั้ง Solar Rooftop ในโรงงาน พร้อมเชื่อมโยง Ecosystem ตลาดคาร์บอนครบวงจร EXIM Green Bond ซึ่งเป็น SFI แห่งแรกที่ออกพันธบัตรระยะยาวอ้างอิง THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) EXIM Biz Transformation Loan เงินทุนช่วยยกระดับธุรกิจ ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี EXIM Shield Financing เงินทุนครบวงจร จ่ายทีเดียวได้ทั้งเงินทุนและความคุ้มครองทางการค้า และอยู่ระหว่างพัฒนาสินเชื่อ E-Commerce Financing สนับสนุนผู้ประกอบการที่ค้าขายออนไลน์ ระบบ Credit Scoring ใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อช่วยให้การอำนวยสินเชื่อของ EXIM BANK รวดเร็วขึ้น การจัดทำ EXIM Index เครื่องมือชี้วัดทิศทางการส่งออกของไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เพื่อเป็นเข็มทิศให้ผู้ส่งออกใช้วางแผนและปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม

นายรักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK กล้าเปลี่ยนโมเดลธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วยสมการ 4P โดยให้ความสำคัญกับคน (People) เป็นอันดับแรก เริ่มต้นจากพนักงาน มุ่งสร้าง Empathic Workplace ให้สะท้อนผลการให้บริการที่ดีไปสู่ลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะคนตัวเล็กในโลกธุรกิจ ตลอดจนผู้คนในชุมชนและสังคม ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงโลก (Planet) โดยการสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะ สร้างโลกที่ดีขึ้น บวกกับความมุ่งมั่นให้บริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด (Productivity) ไม่ว่าจะเป็นบริการที่รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า (Value Proposition) ซึ่งการขับเคลื่อนด้วยโมเดลธุรกิจดังกล่าวจะช่วยสร้างกำไร (Profit) และการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร พร้อมกับสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเติบโตไปด้วยกัน (Inclusive Growth) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับผลการดำเนินงานเดือนมกราคม-กันยายน 2565 EXIM BANK สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินและไม่ใช่การเงินได้อย่างครบวงจร ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนในหลายมิติ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 51,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นวงเงินของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 12,961 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินเชื่อคงค้าง 159,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,137 ล้านบาท หรือ 8.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ณ 20 ตุลาคม 2565 สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 162,513 ล้านบาท คาดว่าภายในปี 2565 จะทะลุ 165,000 ล้านบาท สูงที่สุดตั้งแต่เปิดดำเนินงาน โดย EXIM BANK ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อคงค้างเป็น 300,000 ล้านบาทภายในปี 2570


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ