ธ.ก.ส.จัดมาตรการดูแลปัญหาหนี้สินเกษตรกร ในงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 4, 2022 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธ.ก.ส.จัดมาตรการดูแลปัญหาหนี้สินเกษตรกร ในงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ "มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ครั้งที่ 1 ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 5 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน 2565 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และภัยธรรมชาติ เพื่อให้ลูกค้าสามารถประกอบอาชีพ เสริมสร้างรายได้ ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการหนี้โดยมิเป็นภาระหนัก

ธ.ก.ส.จัดมาตรการดูแลปัญหาหนี้สินเกษตรกร ในงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่จะเข้าไปดูแล ประกอบด้วย การลดความกังวลใจเรื่องหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกำหนดชำระหนี้ตามศักยภาพที่แท้จริง ควบคู่การแบ่งเบาภาระหนี้ผ่านมาตรการจ่ายดอกตัดต้น กรณีลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ย มาตรการผ่อนปรนและดูแลลูกค้า (Care Plus 65) มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลายได้ลดดอกเบี้ย และมาตรการทางด่วนลดหนี้ ซึ่งแต่ละมาตรการจะเข้าไปแก้ปัญหาหนี้สินของลูกค้าแต่ละคนที่อาจมีภาระหนี้ที่แตกต่างกัน เพื่อเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขได้อย่างตรงจุด

นายธนารัตน์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อดูแลแก้ไขปัญหาหนี้ตามมาตรการต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ธ.ก.ส. ได้วางแนวทางในการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการชำระดีมีคืนพลัส สำหรับลูกค้าที่ชำระหนี้ถึงกำหนด จะได้รับดอกเบี้ยคืนในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง สูงสุดไม่เกินรายละ 2,000 บาท วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ผ่านโมเดลการจัดการ-ออกแบบเชิงพื้นที่ D&MBA (Design and Manage by Area) โดยคนในชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ควบคู่กับการเติมความรู้ด้านการเงิน การลงทุน การฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะ ทั้งอาชีพเดิม อาชีพเสริม อาชีพใหม่ การปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้า เพื่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังนำผลิตภัณฑ์สินเชื่อภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน มาช่วยเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้กับผู้ประกอบการและ Smart Farmer อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เป็นต้น รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝาก กองทุนทวีสุข


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ