BAY คาดกรอบการเคลื่อนไหวเงินบาทสัปดาห์นี้ 35.60-36.40 แนวโน้มพักฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 14, 2022 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.60-36.40 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.02 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.70-37.52 บาท/ดอลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 4% และแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะชะลอความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 7.7% ในเดือน ต.ค.หลังจากพุ่งขึ้น 8.2% ในเดือน ก.ย. ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น 6.3% ในเดือน ต.ค.65 หลังจากเพิ่มขึ้น 6.6% ในเดือน ก.ย.65

โดยตลาดสัญญาล่วงหน้าดอกเบี้ย Fed funds บ่งชี้ว่า นักลงทุนทบทวนคาดการณ์ดอกเบี้ยปลายทางของเฟดในวัฎจักรนี้ลงสู่ระดับต่ำกว่า 5% และนักลงทุนคาดว่ามีโอกาสราว 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bp สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.65 ค่าเงินเยนพุ่งขึ้นถึง 5.4% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ดิ่งลงครั้งใหญ่ในรอบกว่า 13 ปี ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิมากถึง 14,091 ล้านบาท และ 77,159 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า เงินดอลลาร์อาจฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง หลังร่วงลงอย่างรวดเร็วจากการกลับสถานะของนักลงทุน แต่การฟื้นตัวของเงินดอลลาร์อาจจะเป็นไปอย่างจำกัดเท่านั้น โดยตลาดจะติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ รวมถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งคาดว่าจะยังคงตอกย้ำท่าทีแข็งกร้าวต่อการควบคุมเงินเฟ้อต่อไป โดยเฟดส่งสัญญาณว่ายอมผิดพลาดในด้านที่ขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไปมากกว่าขึ้นดอกเบี้ยน้อยเกินไป ขณะที่เงินเฟ้อในภาคบริการยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ตลาดอาจฟังเฟดน้อยลง หากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ บ่งชี้ถึงแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มคลายตัวลง นอกจากนี้ การแถลงงบประมาณของรัฐบาลอังกฤษจะอยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกัน

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ CPI เดือน ต.ค.65 เพิ่มขึ้น 5.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 3.17% สนับสนุนมุมมองที่ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังคงผันผวนสูง โดยในภาพรวมเราประเมินว่าเงินบาทอาจผ่านระดับอ่อนค่าสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทจะเข้าสู่ช่วงพักตัวหลังแข็งค่าอย่างรวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ